ธรรมะคนกรุง

มุมมองด้านศาสนธรรมกับชีวิตคนเมืองหลวง..ประเทศไทย


จาก.."สวัสดีกรุงเทพฯ" รายสัปดาห์
My Photo
Name:
Location: สวนเมตตาธรรม, เชียงใหม่, Thailand

Sunday, August 28, 2005

เรียน-รู้

...............................

เรียน-รู้

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนริเริ่มจัด "ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา" เมื่อราวสิบปีก่อน หลายๆ คนมักสงสัยใคร่รู้ ว่า "ธรรมยาตรา" คืออะไรกันแน่

คุยกันไปสักพัก พออธิบายแนวคิดหลัก รูปแบบ และเนื้อหา ของ "ธรรมยาตรา" ให้ฟัง ทั้งเขา(และเธอ) ก็สรุปรวบรัด(ตามถนัด?) ว่า... "อ๋อ! คือการเดินเพื่อรณรงค์นั่นเอง!!" มิไยที่ผู้เขียนจะพยายาม ขยายความ และชี้ชวนให้เห็น หรือสังเกต ว่า "ธรรมยาตรา" คือ กระบวนการเรียนรู้เชิงพุทธ" ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ปิยมิตรเหล่านั้นก็ได้แต่ "ฟัง" หาก "ไม่ได้ยิน" เสียแล้ว...

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เขียนอ่อนด้อยในการ "เล่าเรื่อง-อธิบายความ" แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ "คนอย่างเราๆ" มักติด กับดัก" อยู่บางประการ

กับดักของความทรงจำ กับดักของประสบการณ์ กับดักของข้อสรุป กับดักของความเคยชิน-การทำซ้ำ ตลอดจนกับดักของ ความชอบ และ ความชังฯลฯ

ต่อมา... เมื่อสัก ๓ ปีก่อน ผู้เขียนก็เอาอีก หันมาเชิญชวนใครต่อใคร ให้ร่วมกันจัด "ธรรมยาตรารักษา..ลำน้ำโขง" จากเชียงราย ผ่านหลวงพระบาง ไปเวียงจันทน์ ขึ้น (เพื่อร่วมกันเรียนรู้ กรณีที่รัฐบาลจีนพยายามกดดัน ให้ประเทศท้ายน้ำยอม ระเบิดเกาะแก่ง ในลำน้ำโขงให้เรือจีนออกทะเลใหญ่โดยตรงได้อีกทาง)

ในวันเวลาใกล้เคียงกับปัจจุบัน ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จัก "ธรรมยาตรา" กันมากขึ้น(บ้าง)แล้ว ว่า..

คือ "การเดิน"(ฮา*)

จึงมีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ว่า... "ทำไมธรรมยาตราลำน้ำโขงจึงนั่งเรือ? ทำไมไม่เดิน? ไม่เดินจะเรียกว่าธรรมยาตราเหรอ?" สรุปว่า "ธรรมยาตรา" นั้นพอจะติดตลาดอยู่บ้าง หลายคนจำได้ หลายคนเอาไปใช้ และหลายคนสรุปได้

ว่า "ธรรมยาตรา" คือ "การเดิน" (ฮา)

น่าสนใจว่า "ความหมาย" นอกเหนือจาก "รูปแบบ" นั้น "หายไปไหน?" ถูกปัดทิ้ง เลือนหายไป หรืออะไรกันแน่...

เพราะหลายต่อหลายครั้ง ที่ทั้งผู้เขียนและคณะผู้จัดพยายาม "อธิบาย" ให้กันและกันฟัง ตลอดจนให้คนอื่นๆ ฟัง ว่า... "ธรรมยาตรา" คือ "กระบวนการเรียนรู้เชิงพุทธ" ที่นำ "ผู้เรียน" ไป "สัมผัส" และ "ผ่าน" ประสบการณ์จริง(และตรง) ด้วยตนเอง เพื่อให้ประจักษ์ต่อข้อมูล และปัจจัยแวดล้อม ในลักษณะของการ "ใช้ชีวิต" และ "ทำกิจกรรม" ร่วมกัน ภายใต้กรอบและข้อตกลง ที่ทุกคนช่วยกันกำหนดขึ้น เพื่อความ "ตระหนักรู้" และการ "เปลี่ยนแปลง" ด้านใน ฯลฯ

"รูปแบบ-วิธีการ" ยังอยู่ในความทรงจำ แต่ "เนื้อหาสาระ" ดูเหมือนมีเพียงบางกลุ่มหรือบางคนเท่านั้น ที่ยังพอจะรักษาไว้ได้

นี่อาจเป็น "เงื่อนปม" บางอย่าง ที่ "ผู้รู้" หรือกระทั่ง ผู้อ่าน จะนำไปไตร่ตรอง หรือนำไป "ดำเนินการ" อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งต่อ "ผู้เรียนรู้" และ "กระบวนการเรียนรู้" ในวงกว้าง ส่วนผู้เขียนซึ่งเป็นเพียงคนเล็กคนน้อย หรือพระเล็กพระน้อย (เพราะ)ยิ่งนับวันจะยิ่งรู้สึกว่ามีสติปัญญาน้อย

คงทำได้แค่(เดิน) ธรรมยาตรา ต่อไป...


*หมายเหตุ

สงสัยเล็กๆ ว่า... ข้อเขียนของพระมีวงเล็บ "ฮา" จะน่าเกลียดไหม? :-) สมัยหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาส ให้สัมภาษณ์พระประชา ปสนฺธมฺโม ว่า..ท่านเคยคิดจะลงท้ายการเทศน์โดยร้อง "ตุ๊กแก!!" ดูบ้าง เพราะสงสัยว่า คนฟัง จะแสดงท่าทีอย่างไร... แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทดลองจริงๆ สักที

eXTReMe Tracker

รถซิ่ง..

.................


รถซิ่ง..จะวิ่งที่ไหนดี?

ระยะนี้มีข่าวรัฐมนตรีท่านหนึ่งจะ อนุญาต ให้ เยาวชนผู้รักความเร็ว ใช้ถนนบางสายในบางเวลาสำหรับ ประลองฝีมือ โดย เปิดเผย ไม่จำเป็นต้อง ลักลอบ หรือ หลบสายตาตำรวจ ไป ซิ่งเถื่อน ซึ่งมักจะเป็นที่มาของอุบัติเหตุร้ายแรง แฝงไว้ด้วยการ มั่วสุม ชนิด ชุมนุม กัน เสพสุข-เสพเสื่อม อย่างไร้ขอบเขต ทั้งทาง กฎหมาย และ ศีลธรรม

ฟังดูก็คล้ายกับห่วงใยและอยากแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะมาจากเจตนาดีเป็นที่ตั้ง แต่หากมองในภาพรวมแล้ว ก็น่ากังวลใจอยู่มิใช่น้อย ที่บุคคลระดับเสนาบดีมีขีดความสามารถและระดับสติปัญญา สำหรับจะใช้ ทำความเข้าใจ หรือ แก้ไขปัญหา ได้เพียงเท่านี้

จริงอยู่ ด้วยตรรกะง่ายๆ พื้นๆ และตื้นเขิน การสรุปว่า วัยรุ่น รักความเร็ว ชอบความเสี่ยง และนิยมความตื่นเต้นจำนวนหนึ่ง เมื่อถูกห้ามปรามโดยระเบียบและกฎหมายบ้านเมือง ก็จะ หลบ หรือ แอบ ไปทำตามใจตนเอง ยิ่งมีเพื่อนร่วมกลุ่ม รวมตัว กันได้มากๆ ก็ยิ่งสนุก และอาจเป็นที่มาของ กิจกรรมอื่นๆ ที่ แรงกว่า ต่อเนื่องกันไป

แต่หากจะถามว่านั่นเป็น ทั้งหมด ของ ที่มา-ที่ไป ในปัญหา รถซิ่ง-มอร์เตอร์ไซค์ซ่า หรือไม่ รัฐ กับ ระบบการศึกษา และ ผู้ใหญ่ กับคนใน สถาบันครอบครัว ตลอดจน ผู้รู้ หรือ ผู้ชำนาญการ ที่ห้อมล้อมรัฐบาล และ/หรือ รัฐมนตรี คงต้องทำ การบ้าน กันยิ่งกว่านี้มากมายนัก

ไม่เช่นนั้นก็คงต้อง แยกกันแก้ เป็น แต่ละเรื่อง แล้วเกิดความ ยุ่งเหยิง ใน ภาพรวม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับปัญหา ๓ จังหวัดภาคใต้ สงครามยาเสพติด หรือการ ทุจริต-คอร์รัปชั่น ในแวดวงรัฐ ที่สุดท้ายก็เป็น กับดักของวิธีคิด มากกว่า ประสิทธิภาพการปฏิบัติ ดังที่มักเข้าใจกัน

เด็กวัยรุ่น-วัยร้อน ของไทย จะว่าไปแล้ว ก็เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมวัยในหลายๆ ประเทศ ที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และตลาดเสรีโหมกระตุ้นให้พวกเขาเป็น เป้าหมายการค้า หรือเป็น เหยื่อการบริโภค อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแทบไม่เหลือสติยั้งคิด หรือจิตแห่งสุนทรีย์ใดๆ ความอ่อนโยน งดงาม หรือ สวยใส ตามวัย-ตามอายุ จึงแทบไม่เหลืออยู่ให้บ่มเพาะ มโนธรรมสำนึก ในฐานะเครื่องมือฉุดรั้ง กาย และ จิต ตนเองเอาไว้ได้

ก็ผู้ใหญ่เองไม่ใช่หรือ ที่ผลักไสพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ต้องหาที่ ระบายอารมณ์ จากความเคร่งเครียด ทั้งด้วยผลของการดำเนินชีวิต การแก่งแย่งชิงดี และการขาด พื้นที่ตามวัย ในสังคมซึ่งจำต้องอยู่ร่วมกัน...

ก็ผู้ใหญ่เองไม่ใช่หรือ ที่ยื้อแย่ง และช่วงชิง กำหนดกติกา ตลอดจน ตัดสินคุณค่า พวกเขา(และเธอ)อย่างเอาเปรียบและเบียดเบียน อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...

แค่ เอาหน้า ยกถนนให้บางวัน มันจะไปพอ ยาไส้ อะไรกันเล่า ท่านรัฐมนตรี....

eXTReMe Tracker

Thursday, August 18, 2005

กาแฟถ้วยโปรด...

............................................

กาแฟถ้วยโปรด...

ชีวิต คนเมือง หรือ คนกรุง จำนวนไม่น้อย เริ่มต้น มื้อแรกของวันด้วย กาแฟ และ ขนม หรือ อาหารเร่งรีบ อื่นๆ เพียงเพื่อให้ทันเวลาเข้าทำงาน หรือทันการเดินทางในชั่วโมงเร่งรีบ ที่คล้ายจะไม่เคยคอยใคร

บางคน เร่งด่วน หรือ (อด)ทน ยิ่งไปกว่านั้น กาแฟถ้วยเดียว ก็อาจ รองท้อง ไปได้ครึ่งค่อนวัน

ปฏิบัตินานๆ เข้าก็คล้ายจะสอนให้ร่างกายเคยชิน ใครชักชวนให้รับประทาน อาหารเช้า(จริงๆ) ก็ปฏิเสธว่า ไม่หิว หรือมีคำบอกติดปาก ทำนองว่า ไม่ล่ะ..กาแฟถ้วยเดียวพอแล้ว

ไม่ใช่แค่คฤหัสถ์ญาติโยมหรอกนะ พระสงฆ์องค์เจ้า บางท่าน-บางรูป ก็ไม่เว้น ถึงกับเก็บอาหารบิณฑบาตเอาไว้ฉันเพลมื้อเดียวก็ยังมี !

จะถือว่านี่เป็น เรื่องธรรมดา ก็อาจจะได้ หากเอา ความมักง่าย เข้ามาเป็น ตัวตั้ง แต่ถ้าพินิจพิจารณาอย่างระมัดระวังอย่าง ไม่เผลอสติ หรือใช้ อิทัปปัจจยตา มาเป็น เครื่องมือ เพื่อ ศึกษา-วิเคราะห์ กันให้ดีแล้ว จะพบว่า กาแฟถ้วยเดียว ก็มีแง่มุมให้ เจริญในธรรม อยู่ไม่น้อย...

ข้าว ๑ เมล็ด บอกเล่าได้ทั้งจักรวาลฉันใด กาแฟถ้วยเดียวก็นำไปสู่ ปัญญา จาก สภาวธรรม ได้เช่นเดียวกัน ขอเพียง ผู้ดื่ม มี สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ให้เพียงพอ เท่านั้นเอง

เพราะจะว่าไปแล้ว กาแฟ แต่ละถ้วย มิได้บังเกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หากอาศัยเกษตรกรผู้ปลูก และบรรยากาศ อุณหภูมิ น้ำท่า-ฟ้าดิน ปุ๋ย-ยา ประดามี อาศัยคนงานเก็บผลเก็บเมล็ด อาศัยพ่อค้าคนกลาง อาศัยการขนส่งลำเลียง กว่าจะถึงโรงงานก็ต้องผ่านกระบวนการ ผ่านกรรมกรแบกหาม ผ่านเครื่องจักรคั่ว-บด-บ่ม คั้น-ปรุง อบแห้ง ฯลฯ แล้วบรรจุหีบห่อ ส่งมาขายผ่านยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ฯลฯ

นี่ว่ากัน อย่างย่อ เท่านั้น มิได้ขยายให้พิสดารแต่ประการใด...

ใน กาแฟ แต่ละถ้วยจึงมีมากกว่าความเป็น เครื่องดื่ม อุดมคาเฟอีนรสเข้มข้น นุ่มนวล หอมละมุน อย่างอิสระ จากภาวะทั้งหมดทั้งมวล เพราะถึงอย่างไร กาแฟ ก็ยังเจืออยู่ด้วยรอยยิ้ม, เสียงร่ำไห้, หยาดเหงื่อ และสายน้ำตา อีกเหลือคณานับ ที่ ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม จะต้องตระหนักและสำเหนียกให้ รู้รอบ และ/หรือ รู้ทั่ว จนเจนจบ อันเป็นส่วนหนึ่งของผลแห่ง วิปัสสนา

ทุกครั้งที่จะ ชง หรือยกถ้วยกาแฟขึ้น จิบ-ดื่ม จึงขอเชิญชวนทุกท่านให้เพิ่ม มุมมอง หรือลอง แง่คิด ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกนิด ว่าเรากำลังจะ ดื่ม หรือกำลัง ติดกาแฟ อยู่ด้วยเหตุใด

และ...

ที่ดื่ม-ที่ติด อยู่นั้น เรา ผูกพัน กับอะไรแน่ กาแฟ, คาเฟอีน, เครื่องดื่ม+อาหารรองท้อง หรือติด วิถีชีวิตมักง่าย ที่ไร้สิ่งใดทดแทน...

eXTReMe Tracker

Thursday, August 11, 2005

น้ำมันแพง...

...........................


น้ำมันแพง...

คงไม่สายเกินไป หากจะพูดถึงเรื่อง น้ำมันแพง ในระยะนี้ ด้วยว่าราคาน้ำมันดูจะ สูงขึ้น ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะ ลด หรือ ทรงตัว แต่อย่างใด แม้ว่าบางช่วง ในระยะเวลาสั้นๆ จะมีการขยับลงมาบ้าง ก็ยังไม่มากและไม่บ่อยครั้งนัก แนวโน้มและภาพรวม ยังเรียกได้ว่า ราคาน้ำมันนั้นถีบตัวขึ้นไปแทบไม่รู้จักหยุดหย่อน

จะว่าไปแล้ว น้ำมันแพง อย่างนี้ไม่ใช่ คนมีรถ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ คนทั่วๆ ไปก็ใช่ว่าจะหนีพ้น ยิ่งคนทำงานรับจ้างชนิด เดินดินกินข้าวแกง ด้วยแล้ว ดูราวกับว่าจะต้องเผชิญหน้า คลื่นยักษ์ทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วย การจับจ่ายใช้สอย หรือ การดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน เอาเลยทีเดียว

ในฐานะ ชาวพุทธ ผู้มองปัญหาตลอดสาย เห็นทั้ง เหตุ-ปัจจัย อย่างครบถ้วน พิจารณาให้แยบคายก็จะพบได้ไม่ยากนัก ว่า น้ำมัน เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์มากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะปรากฏอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง จะโดยตรงโดยอ้อม ก็ยังมีส่วนร่วมกับการดำเนินชีวิตเข้าจนได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...

ฟังเผินๆ ก็เหมือนกับเป็นการยืนยันหรือยกระดับ ความสำคัญ ให้น้ำมันอย่างแยกส่วนออกมา แต่อีกทางหนึ่ง ก็จะทำให้พบว่า การกำหนด ท่าที ของมนุษย์เกี่ยวกับน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำด้วยความประมาท เพราะมีความซับซ้อน และละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง กล่าวคือ การบริโภคน้ำมันมิใช่เพียงเรื่องของการใช้รถรายานพาหนะที่ต้อง เติมน้ำมัน โดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผลิต การดำเนินชีวิต การเสพ-บริโภค การพักผ่อนหย่อนใจ หรือกระทั่งการทำสงคราม การก่อการร้าย และการเรียกร้องสันติภาพ ฯลฯ ในหลากมิติ และหลายวิธีการ

อาจไม่เป็นการเกินเลยดอกกระมัง หากจะกล่าวว่า ถ้าจะ ประหยัดน้ำมัน กันให้จริงจัง รอบคอบ และรอบด้านแล้ว เราคงต้องหันกลับมา ทบทวน วิถีชีวิต วิธีคิด วิธีปฏิบัติ ตลอดจนเป้าหมายในชีวิต หรือเป้าหมายในระดับอุดมคติทางจิตวิญญาณกันเลยทีเดียว

เพราะการประหยัดน้ำมันเพียงใช้รถน้อยลงจะมีประโยชน์อะไรเล่า หากเรายังเสพและบริโภคกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งการผลิตทั้งระบบ การขนส่งทั้งระบบ การตลาดและการโฆษณาทั้งระบบ การบริโภคทั้งระบบถูก กระตุ้นเร้า ให้เพิ่มปริมาณขึ้นทุกขณะ โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพ

การประหยัดน้ำมันโดยการปิดปั้มจะมีประโยชน์อะไรเล่า หากเรายังไม่หวงแหนสันติภาพ ยังไม่คัดค้านสงคราม ปล่อยให้มหาอำนาจกระทำย่ำยีต่อเพื่อนศาสนิกในศาสนาอิสลามแห่งตะวันออกกลาง จนทำให้แหล่งน้ำมันถูกยึดครอง หรือทำลายไปจำนวนมา

ชาวพุทธ ควรหรือไม่ที่จะใช้น้ำมันด้วยสติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ตลอดจนร่วมรณรงค์ ประหยัดน้ำมัน อย่างเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท และ กฎอิทัปปัจจยตา เพื่อการประหยัด อดออม และพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน

eXTReMe Tracker