ธรรมะคนกรุง

มุมมองด้านศาสนธรรมกับชีวิตคนเมืองหลวง..ประเทศไทย


จาก.."สวัสดีกรุงเทพฯ" รายสัปดาห์
My Photo
Name:
Location: สวนเมตตาธรรม, เชียงใหม่, Thailand

Friday, July 29, 2005

ใส่บาตร..ทำบุญ

.................................

ใส่บาตร..ทำบุญ

ในช่วง เข้าพรรษา นั้นเป็น เวลาดี ของ ชาวพุทธ ส่วนใหญ่ หลายคนจึงมักจะน้อมใจ ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ ให้ยิ่งกว่าเดิม บ้างก็ ตั้งใจ จะ อ่านหนังสือธรรมะ ให้มากขึ้น บางคนก็ถือโอกาส อธิษฐานจิต ปฏิบัติตน อยู่ในศีล-อยู่ในธรรม หรือบางคนที่เคยลองฝึกหัด ปฏิบัติสมาธิภาวนา มาบ้าง ก็ถือโอกาสที่หลายสำนัก ครูบาอาจารย์ อยู่กันพร้อมหน้า ตัดสินใจ ลางาน ไป เข้าวัด เสียสักคราวหนึ่ง ถือเป็นโอกาส ชาร์จแบตเตอร์รี่ ให้กับตัวเองไปในตัว

อย่างน้อยก็เผื่อได้ พลัง กลับมา สู้งาน-สู้ชีวิต ในยุคที่เศรษฐกิจบีบรัด และนับวันจะผืดเคือง...

หากจะถามว่า อะไรดีกว่ากัน ก็คงต้องตอบว่า ดีทั้งหมด-ดีทั้งสิ้น ยิ่งประพฤติปฏิบัติดังที่ว่ามาแล้ว ด้วย จิตอันเป็นกุศล ผลที่ได้ก็จะยิ่ง สมบูรณ์พร้อม ทั้ง ทางโลก และ ทางธรรม

กล่าวคือ การที่ใครสักคนหนึ่ง(หรือหลายคน)ตั้งใจ กระทำความดี สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ ตนเอง และ คนรอบข้าง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ ร่วมกัน ได้ด้วย ความสุข และ สงบเย็น ยิ่งเป็น ความดี ที่ปราศจาก ความยึดมั่นถือมั่น ด้วยแล้ว ก็มีแต่จะนำ สุข มาให้

ยิ่งคน ทำดี มากขึ้นเท่าใด คนดี ก็จะช่วยให้ สังคมดี มากขึ้นเท่านั้น...

เมื่อ สิ่งแวดล้อมดี-คนดี ความก้าวหน้าในทางธรรมก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นผลสะท้อนกลับมาสู่ ผู้ใฝ่ใจในธรรม ที่จะตามมาภายหลังยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวได้ว่าเป็น พลวัต ของ ธรรมะ โดยแท้

กล่าวเช่นนี้หลายๆ คนที่ยังไม่มีโอกาสปฏิบัติทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือยังไม่สามารถจัดสรรให้ตนเอง ปฏิบัติธรรม อย่างเข้มข้นได้จะทำอย่างไรกัน?

ในที่นี้อยากจะให้ทดสอบ หรือทดลองตัวเองด้วยการ ตื่นเช้า เพื่อ ใส่บาตร ดูบ้าง...

ยิ่งบางคนที่แทบไม่มีโอกาสได้เห็นตะวันแรกขึ้น หรือไม่เคยมีโอกาส ให้ทาน ใน ชีวิตประจำวัน ตามปกติได้สักที ก็น่าจะลองอาศัยช่วงเวลาดีๆ เช่นนี้ เริ่มต้น ดูสักคราว

ในพรรษาหรือช่วงเวลา ๓ เดือน นับตั้งแต่หลังวันอาสาฬหบูชา จะเป็นช่วงที่มี พระใหม่ ทั้งที่เป็นคนทำงานหรือข้าราชการลาบวช และสามเณรผู้ครบอายุอุปสมบทในปีนี้-ในพรรษานี้ พอดี มาอยู่ ร่วมวัด-ร่วมสำนัก กันเป็นจำนวนมาก หาก อุบาสก-อุบาสิกา มีแก่ใจ ใส่บาตร-ทำบุญ นอกจากจะเป็นการสละละตัวตนเพื่อให้ทานตามอริยวินัย หรือตามจารีตประเพณีอันดีงามแล้ว ก็ยังเป็นการอุดหนุน หรือทำนุบำรุงการพระศาสนาให้สถิตสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย เพราะด้านหนึ่ง เมื่อพระใหม่รับรู้ได้ถึงศรัทธาและปัญญาแห่งการทำนุบำรุงพระศาสนาของฆราวาสญ าติโยม ก็ยิ่งจะช่วยให้มั่นใจในชีวิตสมณะ เกิดความแกล้วกล้าในทางธรรม และความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย ในการศึกษาและปฏิบัติตามที่ตนเชื่อมั่นศรัทธา

หากคฤหัสถ์ญาติโยมท่านใดยังไม่อาจปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้อย่างเต็มที่ การ ใส่บาตร ก็ถือได้ว่าเป็น ความดี ที่เป็น จุดเริ่มต้น ของ ทาน ศีล ภาวนา ได้อีกทางหนึ่ง

หาโอกาส ตื่นเช้า แล้วลอง ตั้งจิตอันเป็นกุศล จัดเตรียมอาหาร ด้วยตนเอง อย่างง่ายๆ สะอาด และบริสุทธิ์ แล้วใส่บาตรพระหนุ่มเณรน้อยทั่วๆ ไปอย่าง ไม่เจาะจง ดูบ้าง ขอเพียงตั้งใจให้ดี จัดเตรียมและจัดทำทุกอย่างด้วยความมีสติ, สมาธิ และปัญญา น้อมใจให้ทานแด่ท่านที่ผ่านทางมาอย่างไม่ต้องหวังผลตอบแทนใดๆ แอบแฝง

ปฏิบัติได้เช่นนี้วันหนึ่ง ก็เพิ่ม วันดีๆ ในชีวิตขึ้นมาอีก หนึ่งวัน ทำหลายวัน ก็ดีหลายวัน

ไม่ยากเลย...

eXTReMe Tracker

Monday, July 25, 2005

ศรัทธา...

......................................


ศรัทธา...

ว่ากันว่า คนชั้นกลาง หรือ ชนชั้นใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้น และอยู่ระหว่าง คนชั้นสูง กับ คนชั้นต่ำ ตามการแยกระดับผู้คน อย่างฝรั่ง หรือ แบบฝรั่ง นั้น เป็นมนุษย์ประเภทไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ชนชั้นกลาง เกิดขึ้นจากการ ยกระดับตนเอง หรือการ สร้างมาตรฐานใหม่ ให้กับ ชนชั้น ของตน อันเป็นที่มาของ ความเชื่อมั่น หรือ ความยึดมั่นถือมั่น ใน ความสำเร็จ ตลอดจน ความสามารถ ที่ตัวมี ที่สามารถ พัฒนา สถานะของตนเองขึ้นมาได้

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ความใหม่ ของชนชั้นนี้ ก็เป็นเหตุให้พวกเขา(และเธอ) ไร้ราก กล่าวคือ ไร้ที่มา ไม่มีแบบอย่าง และขาดบรรทัดฐาน อันจะต้องสืบเนื่อง หรือผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างยาวนาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทาง ศีลธรรม-จริยธรรม ตลอดจนมิติทาง วัฒนธรรม และ อารยธรรม ซึ่งหมายถึง วิถีแห่งความเป็นอยู่ การเสพบริโภค และการผลิตของผองชน ฯลฯ

กล่าวกันว่า คนชั้นกลาง นั้น ยิ่งนับวันจะเพิ่มปริมาณขึ้น และให้ผลผลิตประเภท ไม่มีที่มา ไม่มีที่อยู่ ไม่รู้ที่ไป มากขึ้น และมากขึ้น ทุกๆ ที

และจะเป็นเพราะชนชั้นนี้ ส่วนใหญ่ เป็นพวก หาเงินง่าย-ใช้เงินคล่อง แบบ เศรษฐีใหม่ หรือ คนเพิ่งรวย ที่มักจะ หวั่นไหวง่าย หรือ วิตกกังวล ในความ มั่นคง และ มั่งคั่ง ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ปราศจากรากฐานตาม ธรรมชาติ ที่ เป็นจริง รองรับ หรือ ความจริง อื่นๆ ก็แล้วแต่ เมื่อประกอบกับ อหังการ-มมังการ ในฐานะมี ความเชื่อมั่น และ เชื่อมือตนเอง จึงมักทำให้ พวกเขา(และเธอ) มัก งมงาย ใน ความหลง อยู่เสมอ ทั้งฝ่ายบาปและฝ่ายบุญ

ใครจะคิด ว่าในสังคมสหรัฐอเมริกา ต้นแบบ แห่งหนึ่งของ โรงงานผลิตคนชั้นกลาง จะยังมีการทรงเจ้าเข้าผีอยู่นับสำนักไม่ถ้วน เช่นเดียวกับปริมาณศาสนาและศาสดาใหม่ ชนิดแปลกประหลาด หรือถึงขนาด เพี้ยน-หลุดโลก ชนิดสุดกู่

ใครจะคิด ว่าในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งกอบกู้และพัฒนาตนเอง จากการแพ้สงคราม ขึ้นมาเป็นพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะมี คนทุกข์ และสถิติการ ฆ่าตัวตาย ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ใครจะคิด ว่า เศรษฐีใหม่-ดารา-นักกีฬายอดนิยม ทั้งชาวไทยและเทศ หากไม่เป็นสาวกของสำนักประหลาดพิเรนทร์ เป็นศิษย์ของอาจารย์ไสยศาสตร์จอมขมังเวทย์ ก็มักหันหน้าไปพึ่งยาเสพติด อย่างชนิด งมงาย อยู่กับ ความหลง อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งอย่าแทบโงหัวไม่ขึ้น

เช่นเดียวกับ นักวิชาการ จำนวนมาก ที่มักหมกมุ่น หรือหลงใหลใฝ่ฝัน ที่จะแสวงหา คุรุ หรือ ครู-อาจารย์ ชนิด ขลังเป็นพิเศษ ทั้งทางฤทธิ์เดช หรือทางปัญญา ซึ่งน่าจะสามารถ รองรับ ความ เชื่อมั่น ของตนได้ อย่าง ไม่ขัดแย้ง และยังช่วยส่งเสริมให้ตน สามารถ แสดงความเหนือกว่าผู้อื่น ไปได้ด้วยพร้อมๆ กัน

คนเหล่านี้มักเชื่อมั่นว่าตนเองก็มี ศรัทธา และมี ศาสนา เช่นเดียวกับ บรรพบุรุษ เช่นเดียวกับที่คนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ มี หรือ เคยมี

หากที่ตน ค้นพบ หรือ ร่วมสถาปนา ขึ้น จะต้อง ดีกว่า หรือ เหนือกว่า ที่ เคยเป็นมา ไม่มากก็น้อย...

นี่ก็เข้าพรรษาแล้ว ท่านผู้อ่านลองสังเกตเล่นๆ กันบ้างดีไหม? ว่า คนชั้นกลาง ข้างๆ ตัวท่าน

เขา(และเธอ) ศรัทธาและ แสวงหา กันอย่างไร?

eXTReMe Tracker

Friday, July 15, 2005

เข้าพรรษา..ในใจ



เข้าพรรษา..ในใจ

อีกไม่กี่วันข้างหน้า ชาวพุทธ ก็จะถึง วาระสำคัญ อีกโอกาสหนึ่ง ซึ่ง พิเศษ กว่าเวลาปกติ กล่าวคือ ฝ่าย บรรพชิต จะถือเป็นโอกาสปฏิบัติตามพุทธวินัยที่พระบรมศาสดากำหนดระยะเวลาไว้เป็นกาลเฉพาะเจาะจง ขณะที่ฝ่าย คฤหัสถ์ หรือเรียกแบบไทยๆ ว่าฝ่าย ฆราวาส ก็มีโอกาสตั้งจิตเป็น ธรรมาธิษฐาน ประกาศตนถือธรรมเป็นที่ตั้ง หวังให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ทำนองคลองธรรม ยิ่งกว่าที่เคยเป็นเสียคราวหนึ่ง

นั่นคือ วาระของ พรรษากาล ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ครบถ้วน ตรีมาส รวม ๓ เดือนเต็ม นั่นเอง

เป็นที่แน่ชัด ว่าข้อปฏิบัติฝ่ายบรรพชิต(หรือฝ่ายภิกษุสงฆ์)นั้นเนื่องอยู่ด้วย พรรษา หรือ วสฺส ในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง ฤดูฝน เป็นด้านหลัก โดยถือเอา ระยะ นี้ เป็นห้วงเวลามิต้องออกจาริก ละเว้นการย่ำเหยียบข้าวกล้าในนาไร่ อันเกษตรกรเพาะหว่านไว้ในฤดูอันเหมาะสม แล้วขวนขวายปฏิบัติตนในที่อันจำเพาะซึ่งประกาศไว้ต่อหน้ากันและกันในหมู่คณะ ว่าจะร่วมศึกษาและปฏิบัติด้วยกันให้ครบถ้วนเงื่อนเวลาตามพระธรรมวินัย

น่าสนใจก็ที่ ชาวพุทธไทย ฝ่าย ผู้ครองเรือน จำนวนหนึ่ง(และนับวันจะยิ่งมากขึ้น) ถือเป็น เวลาพิเศษ ของตน ในอันที่จะ ปฏิบัติพิเศษ หรือ เข้มงวด กับตนเอง อย่างยิ่ง ตามไปด้วย ซึ่งก็ถือเป็นความ น่ารัก ของชาวพุทธไทย ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ก็อาจไม่เคยปรากฏเช่นนี้ในแผ่นดินพุทธศาสนาอื่นๆ มาก่อนเลยก็เป็นได้

กล่าวคือ เป็นการประกาศตนเป็นชาวพุทธ แบบไทยๆ ในวาระ เฉพาะกิจ-เฉพาะกาล ที่ได้รับความนิยม และนับวันจะขยายตัวออกไปใหญ่โตยิ่งขึ้นทุกๆ ที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาผ่านมาไม่กี่ปี ที่ ภาครัฐ อาศัย โหนกระแส ประโคมเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้ง งดเหล้าเข้าพรรษา และ/หรือ ลด ละ เลิก อะไรอื่นๆ เข้าพรรษา ที่ทยอยตามกันมา จนดูราวกับว่า นี่เป็นเวลา ปฏิบัติธรรม โดยตรง-โดยเฉพาะ เอาเลยทีเดียว

ปัญหาคงอยู่ที่ว่า... แล้ว เวลาที่เหลือ เล่า...จะเอาอย่างไรกันดี??

แน่ละ ว่าการ ปฏิบัติธรรม อย่าง เคร่งครัด-เข้มงวด นั้นเป็นที่น่ายกย่อง ยิ่งใน เวลาพิเศษ ที่ถือปฏิบัติกันเป็น หมู่คณะ ก็ยิ่งน่าสรรเสริญ

แต่ นักปฏิบัติธรรม ที่ดี ก็มิควรที่จะ แบ่งส่วนแยกซอย มองอะไรเป็นดำเป็นขาวจนเกินไปมิใช่หรือ?

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า... ทำอย่างไรเราทั้งหลายจะสามารถ เกลี่ย หรือ เฉลี่ย การศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ขยายขอบเขตออกไปให้ได้ ตลอดปี มิใช่พากันถือว่า ๙ เดือนทำบาป แล้วค่อยชำระความเปื้อนเปรอะทางวิญญาณด้วย ๓ เดือนทำดี อย่างที่บางคนพยายามกระทำตามๆ กันไป

การลด ละ เลิก เพื่อ เข้าพรรษา นั้นเป็นเรื่องดีแน่ แต่น่าจะดีกว่าหรือไม่ หากเราทั้งหลายมี ต้นทุน ความดีงามมาบ้างแล้ว หรือมีศีลมีธรรมอยู่บ้างแล้ว โดยมิได้หวัง ตักตวงบุญ เอาเพียงแค่ช่วงเวลา ๓ เดือนที่จะถึงนี้เท่านั้น

อย่างอื่นก็ตีค่า ตั้งราคา ค้ากำไร กันไปหมดแล้ว ละเว้น บุญเข้าพรรษา เอาไว้สักนิดมิได้เลยเชียวหรือ?

eXTReMe Tracker

Wednesday, July 06, 2005

“ความรุนแรง” เพื่อใคร...?

.................................

ฆาตกรรมพระสุพจน์
ความรุนแรง เพื่อใคร...?

น ับตั้งแต่สายวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์ผู้ชันสูตรศพพบว่า พระสุพจน์ สุวโจ ได้ถึงแก่มรณภาพมาแล้วประมาณ ๘ ๒๔ ชั่วโมง ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไม่มีวันหวนกลับ อย่างไม่มีวันย้อนคืน...

นายกิตติพัฒน์ และนางดาวเรือง ตลอดจนญาติมิตรในสายตระกูล ด้วงประเสริฐ ได้สูญเสีย บุตรหลาน-พี่น้อง ร่วมวงศ์วานว่านเครือผู้ซึ่ง ๑๓ ปีก่อนได้ตัดสินใจออกบวช ในฉายา สุวโจ โดยมุ่งหวังอุทิศทั้งชีวิตให้แก่งานพระศาสนา

หลังจากตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้ครอบครัวเล็กๆ ของ พ่อ-แม่ และน้องๆ อย่างพร้อมสรรพ ตามที่ตนมีกำลัง

กลุ่มเสขิยธรรม, กลุ่มพุทธทาสศึกษา และบรรดามิตรสนิท ในแวดวงแห่ง การประยุกต์ใช้ธรรมะเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและสังคมอย่างสมสมัย ได้สูญเสียสดมภ์หลัก ผู้มากความสามารถ ทั้งด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการประยุกต์ศิลป์ ในรูปแบบของสื่อ ทั้งเว็บไซต์และสิ่งพิมพ์

พุทธศาสนิกชนร่วมสมัย ในฐานะผู้รับข้อมูลข่าวสาร สูญเสียโอกาสในการ เสพ-บริโภค เนื้อหาสาระ และ รูปแบบ ชนิด ง่ายและงาม จากผลงานระดับ มืออาชีพ ผู้ทำงานอุทิศตนอยู่ในกุฏิเล็กๆ ริมฝั่งห้วยงู ต้นลำน้ำฝาง โดยแทบมิเคยแสดง ความมีอยู่ ของตัวเองต่อหน้าเวทีสาธารณะ ไม่มีแม้การประกาศชื่อ-ฉายา ของตนลงบนชิ้นงาน

ม ีเพียงไม่กี่คนในบรรดาผู้ใกล้ชิดเท่านั้น ที่ทราบว่าพระภิกษุพรรษา ๑๓ อายุ ๓๙ ปี ชื่อ พระสุพจน์ สุวโจ(ด้วงประเสริฐ)ผู้นี้ ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนของ พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกไปสู่สังคมในวงกว้างมากมายมหาศาลสักเพียงใด ทำงานหนักหนาสาหัสสักแค่ไหน เมื่อเทียบระยะเวลาเพียงสิบปีเศษของอายุในเพศบรรพชิตของท่าน

ฆาตกร หรือ กลุ่มฆาตกร ผู้ลงมือสังหาร ตลอดจน ผู้บงการ อยู่เบื้องหลัง ทราบบ้างหรือไม่ ว่ากระทำสิ่งใดลงไป และ สิ่งนั้น จะส่งผลเสียหายกว้างขวางสักเพียงไหน

และส่งผลกระทบสักเพียงใด...

ข ้าราชการ นักปกครอง นักการเมือง ตลอดจนสื่อมวลชน ทั้งในท้องถิ่น และส่วนกลาง หลายคน หลายสาขา ที่เอื้อนเอ่ยวาจาว่าร้าย หรือให้ความคิดเห็นตำหนิติเตียนผู้ตาย ด้วยจิตอันเนื่องอยู่ด้วยอกุศล หรือเนื่องอยู่ด้วยความอยุติธรรม ทั้งปราศจากการตรวจสอบ หรือความรับผิดชอบใดๆ จะทราบบ้างหรือไม่ ว่าสิ่งที่ตนสำราก หรือถ่มถุยออกมาด้วยจิตมุ่งหวังเอาชนะ หรือเมามันในอารมณ์ ได้ ทำร้าย หรือ รังแก พระภิกษุผู้จากไปอย่างปราศจากทางต่อสู้ หรือมีโอกาสถกเถียง มากมายสักเพียงไร...

บทความสั้นๆ ชิ้นนี้คงไม่มี สาร ใด สื่อ ไปถึงท่านผู้อ่าน

มากไปกว่าคำถามที่ว่า...

ถึงที่สุดแล้ว ความรุนแรง ระดับ ถึงแก่ชีวิต นั้นมีประโยชน์อันใด? และมีประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อใคร?

ผู้ตาย และ ผู้เกี่ยวข้อง ต่าง สูญเสีย เหลือคณานับ...

ผู้ฆ่า เล่า?

ท่านและกลุ่มของท่าน ได้ จริงละหรือ?

ถ้าใช่! จะ ได้มาก สักเศษเสี้ยวของความสามารถ หรือศักยภาพ ของ พระสุพจน์ สุวโจ ที่จะทำให้กับพระพุทธศาสนา(หากท่านผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่)ละหรือ?

ในโลกอันโหดเหี้ยมและแล้งร้ายยิ่งขึ้นทุกขณะ เมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ที่เราทั้งหลายพากัน หลงผิดเพาะหว่าน ทุรยุค ขึ้นมาต้นแล้วต้นเล่า

สังเกตกันบ้างหรือไม่? ว่าที่สุดแล้ว อกุศล เหล่านี้ งอกงาม อยู่ที่ใด?

eXTReMe Tracker

Friday, July 01, 2005

งานศพคนกรุงฯ

...............................

งานศพคนกรุงฯ

ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงความตายเอาไว้ในบางด้าน พอให้เป็นการ ตั้งข้อสังเกต เผื่อว่า ชาวพุทธ หรือ ศาสนิกชน จะฉุกคิด และครุ่นคำนึง ถึงเรื่องราวใกล้ตัว หรือที่บังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุด ก็พอให้มี มุมมองด้านศาสนา หรือ แง่มุมด้านศาสนธรรม อยู่ในชีวิตจริงบ้าง ไม่มากก็น้อย ในลักษณะ ธรรมะกับชีวิตประจำวัน..ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้หลายๆ ครั้งนั่นเอง

เมื่อกล่าวถึง การตาย และ ความตาย หากไม่กล่าวถึง งานศพ ก็อาจจะไม่จบความ...

หากจำไม่ผิด เคยมีบริษัทวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ของธนาคารแห่งหนึ่ง กล่าวไว้ในรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อหลายปีก่อน ว่า... งานศพ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางศาสนา และ/หรือ ประเพณี-วัฒนธรรม ที่มีวงเงินหมุนเวียนจำนวน มากที่สุด กิจกรรมหนึ่ง ด้วยเหตุที่ผู้ ยังอยู่ ยินดี ปฏิบัติ หรือ กระทำการ ใดๆ ก็ตาม อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อ อุทิศ ให้กับ ผู้จากไป ตามคติความเชื่อที่ตนศรัทธา

และ ศรัทธา กับความ ปรารถนาดี นี้เอง ที่เป็นต้นเงื่อน ให้ ผู้เห็นช่องทาง ฉกฉวย ส่วนเกิน ไปเป็น ประโยชน์ส่วนตัว ได้ อย่างที่ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ตาย ไม่อาจ หรือ มิกล้า ปฏิเสธ

จะว่าไปแล้ว นี่เป็น กรรม และ วิบากกรรม อันส่อสะท้อน สังคมชาวพุทธไทย อยู่ในที...

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง เป็นคนใกล้วัดใกล้วา หรือคนในวัดโดยตรง (มิหนำซ้ำ บางแห่งแหล่งที่อาจมีหรืออาจรวมเอาฝ่ายพระฝ่ายสงฆ์เข้าไปด้วยเสียอีก) ซึ่ง รู้เรื่อง หรือ ชำนาญการ กระทั่งสามารถ พลิกแพลง เพื่อหาประโยชน์จาก พิธีกรรม ต่างๆ ของ งานศพ ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมๆ ไปกับการอ้างบุญทวงคุณ ที่ตนกับพวก กรุณาอนุเคราะห์ ต่อผู้ตายและญาติ

กับอีกด้านหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยญาติมิตรและผู้เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ซึ่งจะมากจะน้อยก็อยู่ระหว่างความเศร้าโศก เพราะอาลัยรักในผู้จากไป

ฝ่ายแรก รู้เทคนิค+วิธีการ ด้าน ศาสนพิธี แต่ ขาดธรรมะ เช่น ความเมตตา-กรุณา หรือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ที่ หากินกับผี ขณะที่ฝ่ายหลัง อาจ ขาดสติ ที่จะ ระลึกได้ ว่าตนกับพวกกำลังจะ ทำอะไร ให้ผู้ตาย ทั้งยังขาดปัญญา-ความรู้แจ้ง หรือขาดหลักการด้านศาสนธรรม ชนิดที่เพียงพอต่อการอธิบายให้ตนเองและผู้อื่น รู้เรื่อง ว่า ควร หรือ ไม่ควร จะทำหรือไม่ทำอะไร และอย่างไรบ้าง เพื่อ สร้างกุศล ทั้งต่อตนเองและผู้จากไป

เมื่อทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จึงปรากฏเพียง พิธีกรรม และ การละลายทรัพย์ เป็นด้านหลัก หากขาดเนื้อหาสาระที่พึงมีและพึงเป็นแทบหมดสิ้น ไม่ว่าจะโดยหลัก ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันชาวพุทธพึงสมาทาน หรือการถือโอกาสของ งานศพ ใคร่ครวญถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ให้ธรรมะในกายในจิตงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป

ว่าไปแล้วก็ไม่น่าเชื่อ ที่ถึงวันนี้ งานปลงธรรมสังเวชศพ ซึ่งเคยถือกันว่าเป็น พิธีแห่งปัญญา ในอดีต จะกลับกลายไปเป็นธุรกิจเสียแทบหมดสิ้น หาไม่ก็กลายเป็นพิธี สูบจากศพ ชนิด หัวมังกุท้ายมังกร จนน่าเอือมระอา หาสาระไม่ได้เอาเสียเลย...

คนตายก็จากไปแล้ว ความไม่รู้ และ คนไม่รู้ ยังจะยิ่งช่วยกัน ฆาตกรรม ศาสนธรรมให้ตกตายตามไปเสียอีก

พุทธบริษัท ทั้งหลายไม่คิดจะ หาทางออก จาก กับดักของมาร กันบ้างเลยหรือไร?

eXTReMe Tracker