ธรรมะคนกรุง

มุมมองด้านศาสนธรรมกับชีวิตคนเมืองหลวง..ประเทศไทย


จาก.."สวัสดีกรุงเทพฯ" รายสัปดาห์
My Photo
Name:
Location: สวนเมตตาธรรม, เชียงใหม่, Thailand

Friday, May 27, 2005

แม้ “ดี” ก็ต้องมี “เดี๋ยว” ไว้บ้าง...

...............................

การ์ตูนสัญลักษณ์(mascot) ขาว-ดำ ชื่อ ดี และ เดี๋ยว ตลอดจน ถ้อยคำ-น้ำเสียง-คำโฆษณา ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏให้เห็นให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ตามสื่อต่างๆ ในขณะนี้ แม้ด้านหนึ่งจะถูกทำให้เชื่อ ว่าน่าจะเป็นกิจกรรมกระตุกใจให้ฉุกคิด หรือกระตุ้นเร้าให้ ทำความดี โดยมีและใช้พื้นฐานทางพุทธธรรม และความเป็นสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อาทิ การใช้ วิสาขบูชา เป็นวาระเปิดประเด็น ตลอดจนชี้ชวนให้ คนไทย ร่วมกันบำเพ็ญบารมีประกาศ สัจจะอธิษฐาน แบบ ๑ คน ๑ สัจจะ จนกว่าจะถึงวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในปี ๒๕๕๐ เป็นวันสิ้นสุดกิจกรรม

แต่เมื่อพิจารณากันให้ถี่ถ้วนแล้ว กรณี ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว ข้างต้นนี้ออกจะเป็นเรื่องที่มีแง่มุมให้ตรึกตรองเกินกว่านั้นไปอีกมากมายนัก

ด้วยว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ภาครัฐประกาศปลุกเร้าให้คนในอาณัติ ละทิ้งสติ คือ ความระลึกได้ หรือความยับยั้งชั่งใจ ในเชิงศาสนา หรือกระบวนการด้าน คุณธรรม-จริยธรรม อย่างเต็มตัว และเต็มปากเต็มคำ

กล่าวคือ นี่เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานของรัฐ ยืนยัน ต่อสาธารณะว่า ..ถ้าเห็นว่าสิ่งนี้ดี ก็จงอย่าได้รีรอให้เนิ่นช้า.. แม้จะมีอะไรน่า สะดุดใจ หรือชวนให้ ฉุกคิด ก็จงสลัดทิ้งไป เพราะนั่นอาจหมายถึง เจ้ามารดำ ชื่อ เดี๋ยว ที่บงการขัดขวาง เจ้าตัวดี (ตัวสีขาว)อยู่เบื้องหลัง

ก่อนหน้านี้แม้เคยมีกรณีที่บางวัดเชิญชวนให้ทีมงานและกลุ่มเป้าหมายในสายบุญของตน ทุ่มเทบริจาค ให้สุดจิตสุดใจ หรือกิจการในภาคเอกชนเชิญชวนให้ผู้คนลืมตัวเผลอใจ หันมาบริโภคสินค้าและบริการของตนอย่างงมงาย แต่ในฝ่ายรัฐ ดูจะปักหลักวางบทบาทไว้อย่างแจ่มชัด ว่าจะเป็นผู้ห้ามปราม, ตักเตือน และฉุดรั้ง ตลอดจนยับยั้งมิให้ สังคม ออกนอกลู่นอกทางจนเกินไปนัก ด้วยถือว่าการปกป้องและดูแล ตลอดจนเสริมสร้าง ทำนองคลองธรรม เป็นหน้าที่และภารกิจอันมิอาจละทิ้ง

หรือเป็นเพราะระยะนั้น นายทุน กับ นักการตลาด และ นักการเมือง ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นวันนี้ก็มิอาจทราบได้ เพราะในระยะสี่ห้าปีมานี้ ดูเหมือนว่ารัฐและหน่วยงานในกำกับ จะทำตัวสอดคล้องกับฝ่ายทุน โดยกระตุ้นเร้าผู้คนในปกครองอย่างน่าตระหนก เริ่มจากเร่งให้เสพ-บริโภค หลอกล่อให้หลงความทันสมัย(จนละทิ้งวิถีดั้งเดิม) เร้าใจให้ฟุ่มเฟือย ฯลฯ กระทั่งล่าสุดสมมติให้ สติ เป็น มารดำ ไปเสียอีก

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และจะกลายเป็น หนังยาว หากผู้เกี่ยวข้องยังละเลยการอธิบายความให้สอดคล้องและครอบคลุมกับสิ่งที่ตนคิดและทำ เพราะ ดี ไม่ต้อง เดี๋ยว ที่โฆษณาอยู่นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการบ่อนเซาะฐานรากทางสังคม, ทุนวัฒนธรรม และโครงสร้างทางศีลธรรม-คุณธรรม-จริยธรรม ไปอย่างมักง่าย แต่ยังส่อแสดงการ เปลี่ยนบทบาท ของภาครัฐอย่างน่ารังเกียจยิ่ง กล่าวคือ จากที่เคยปกครองอย่างปกป้องและดูแลผลประโยชน์ประชาชน กลับหันมาบั่นทอนหรือทำลาย เครื่องมือและกลไก การ ยับยั้งชั่งใจ ของมหาชนเสียเอง

การบอกว่า ถ้า ดี ก็ไม่ต้อง เดี๋ยว จึงดูจะไม่ใช่แค่ ปลุกให้ทำดีอย่างเดียว ดังที่พยายามบอก เพราะดูเหมือนว่า นอกจาก เดี๋ยว ในเรื่อง ทำดี จะหายไปแล้ว นับวัน เดี๋ยว อื่นๆ (ซึ่งก็เหลืออยู่ไม่มากนัก)ก็จะตกตายไปตามกันไปอีกเรื่อยๆ

จึงอยากจะบอกไว้ว่า..

อย่า หลงดี ให้รัฐบาล ฆ่าเดี๋ยว กันต่อไปอีกเลย...

eXTReMe Tracker

Thursday, May 19, 2005

วิสาขบูชา(๒)

.........................................

วิสาขบูชากับสัจจะอธิษฐาน(๒)

ฉบับที่แล้วทิ้งประเด็นการพูดคุยเอาไว้ว่า …หากจะ “มอง” และ “พิจารณา” กันอย่าง “ชาวพุทธ” แล้ว อะไรเล่า ที่หมายถึง “การปฏิบัติบูชา” อะไรคือ “สัจจะ” และอะไรกันแน่ ที่กินความไปถึง “อธิษฐานธรรม” อย่างที่ “ชาวพุทธ” จะพึงมีและพึงเป็น ตลอดจนพึงกระทำ ในโอกาส “วิสาขบูชา” อันสำคัญยิ่งนี้… ฉบับนี้มาว่ากันต่อ เพื่อคนกรุงฯ ที่เป็น “ชาวพุทธ” จะเกิดแง่คิดและมุมมองเพิ่มเติมขึ้นในบางด้าน อันอาจช่วยให้เห็นอะไรชัดขึ้นได้ตามสมควร

เริ่มต้นที่คำว่า “บูชา” ว่ากันโดยหลักพุทธธรรม การบูชา ซึ่งหมายถึง การให้ด้วยความนับถือ, แสดงความเคารพเทิดทูน..นั้น ท่านว่ามี ๒ ประการ คือ บูชาด้วยการปฏิบัติ(ปฏิบัติบูชา) และการบูชาด้วยอามิส คือ สิ่งของ เช่น ดอกไม้ ของหอม อาหาร หรือวัตถุอื่นๆ (อามิสบูชา)

การปฏิบัติบูชา ว่ากันสั้นๆ ย่อๆ ก็คือ การประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน, การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการกระทำในสิ่งที่ดีงาม

ในง่มุมนี้ น่าสงสัย ว่าการส่ง “๑ คน ๑ สัจจะ” ไปถึงนายกรัฐมนตรี จะถือเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าในวันหรือห้วงเวลาแห่ง “วิสาขบูชา” ได้อย่างไร?

ต่อมาคือ คำว่า “สัจจะ” (แถมคำว่า “อธิษฐาน” ให้ด้วยอีก ๑ คำก็ยังได้ เพื่อให้เห็นภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น) ทั้ง สัจจะ และ อธิษฐาน นั้น เป็น ๒ ใน ๑๐ ของ “บารมี” แบบพุทธ ที่กล่าวถึง ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา ในที่นี้ “บารมี” นั้น หมายถึง คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง ซึ่งในทางพุทธศาสนาทราบกันดีว่าหมายถึงการดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง หรือการบรรลุถึงพระนิพพาน ด้วยอริยมรรคมีองค์แปด หรือมัชฌิมาปฏิปทา

น่าสงสัยหรือไม่ว่า การบำเพ็ญบารมี ๒ ใน ๑๐ ประการข้างต้นนั้น เหตุใดจึงต้อง มีสำเนาส่งรายงานไปถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ต่อมาคือคำว่า “อธิษฐานธรรม” ที่กล่าวถึงคำนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า หากพิจารณากันโดยแยบคาย ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือศูนย์คุณธรรมพยายามจะเชิญชวนให้ “คนไทย” ปฏิบัติบูชานั้น น่าจะเป็นการ “อธิษฐานธรรม” เสียมากกว่า ส่วนที่โฆษณากันครึกโครมนั้นจะเป็นกลอนพาไป หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงก็มิอาจทราบได้

“อธิษฐานธรรม” นั้น ท่านว่า หมายถึง ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ, ธรรมเป็นที่มั่น มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง ๒. สัจจะ ความจริง มี ๒ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ๓. จาคะ การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส ๔. อุปสมะ ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ, การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ใน “อธิษฐานธรรม” นั้นมี “สัจจะ” ประกอบอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ทั้ง “สัจจะ” และ “อธิษฐาน” ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “บารมี” ซึ่งอาจเป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการนี้เกิดความสำคัญผิด กระทั่งเป็นเหตุให้ประชาสัมพันธ์ความสับสนสู่สาธารณะไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีอยูแล้ว ว่า “วิสาขบูชา” เป็นห้วงกาลที่ชาวพุทธพึงระลึกถึงคุณและปฏิบัติบูชาแด่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพ ุทธเจ้า ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในเพ็ญเดือน ๖

ดังนั้น หากรัฐบาล หรือหน่วยงานในสังกัด ประสงค์จะมีส่วนร่วม หรือต้องการใช้โอกาสนี้ “หาคะแนน” ก็จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องรู้จัก กาละ-เทศะ และประพฤติให้ถูกต้อง-เหมาะควร หาไม่ก็จะพากันเข้ารกเข้าพง หรือทำให้ของเดิมที่ดีอยู่แล้วเสื่อมเสียไปด้วย อย่างน่าเสียดายยิ่ง

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด จึงยังมิอาจชี้ให้เห็นชัดๆ ว่าเหตุใดการส่งการ์ด “๑ คน ๑ สัจจะ” ถึงนายกรัฐมนตรีจึงไม่น่าจะเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แต่เชื่อว่าผู้มีสติ ปัญญา และสัมปชัญญะ จะเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย ว่าแนวคิดเช่นนี้กำเริบเสิบสานสักแค่ไหน และเพียงใด…

eXTReMe Tracker

Friday, May 13, 2005

วิสาขบูชา

...................................

วิสาขบูชากับสัจจะอธิษฐาน(๑)

วิสาขบูชาปีนี้ดูจะน่าตื่นเต้นและน่าตื่นตาไม่ใช่น้อย นับแต่มีการโหมโรงว่า “ใคร” ควรเป็น “เจ้าภาพ” หรือ “ตัวตั้งตัวตี” สนองนโยบาย หรือแนวคิดของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ “คิดใหญ่” และ “คิดใหม่” ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก เสมือนหนึ่งมหานครเมกกะเป็นศูนย์กลางของมุสลิมโลก

นี่เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เพราะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ของงานด้านศาสนา ที่ผู้บริหารระดับสูงมอบนโยบายมาพร้อมกับเป้าหมายและแผนปฏิบัติการอย่างเป็น รูปธรรม แทนที่จะให้แค่ภาพกว้างๆ หรือวัตถุประสงค์ครอบจักรวาล แล้วโยนให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง “สนองนโยบาย” หรือ “เอาใจนาย” ด้วยรูปแบบสำเร็จรูป ที่ส่วนใหญ่จะ “เชย”, “ผักชีโรยหน้า” และ “ไฟไหม้ฟาง” ไปแทบทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่ดำรินั้น “แท้งก่อนแต่ง” หรือ “ตายน้ำตื้น” ไปเสีย เพียงเพราะบางคนรุกผิดจังหวะ หรือมองข้ามแง่มุมอ่อนไหวใน “บางเรื่องราว” เพราะรีบร้อน, ประมาท หรือ “ขาดความเฉลียว” อย่างที่ควรจะเป็น

แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือน “ศูนย์คุณธรรมฯ” (หน่วยงานระดับองค์การมหาชนซึ่งอายุยังไม่ถึงขวบปีดีนัก แต่นับวันจะแสดงความชัดเจน ว่าจะเป็นมือทำงาน “ปิดจุดอ่อน” ด้านสังคมและปฏิบัติการ “ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม” โดยภาครัฐ) ยังไม่ละความพยายามที่จะใช้โอกาส “วิสาขบูชา” ปีนี้สนองนโยบาย “สายตรง” จากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ป้ายชักชวนให้ร่วมกันแสดง “สัจจะอธิษฐาน” ตามแนวคิด “๑ คน ๑ สัจจะ” จึงปรากฏออกมาให้เห็น เป็น “เป้าสายตาใหม่ๆ” ของ “คนกรุงฯ”

ทำนองชี้ชวนให้เชื่อ ว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะถือได้ว่าเป็น “ปฏิบัติบูชา” เพื่อแสดงความเคารพเทิดทูน หรือสนองคุณพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้านับว่านี่เป็นเกมช่วงชิงโอกาส หรือปฏิบัติการรุกคืบทางการเมือง เพื่อหนุนเสริมภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี และ/หรือ ของรัฐบาล ก็ถือได้ว่าเป็นจังหวะก้าวที่ “ดูดี” และมี “ที่มาที่ไป” อย่างสอดคล้องและกลมกลืนยิ่ง ทั้งที่เพิ่งพลาดสะดุดเท้าตัวเองจนแทบหัวคะมำมาหยกๆ นี้เอง

แต่หากจะมองอย่าง “ชาวพุทธ” หรือเจาะจงมาที่ “คนกรุงฯ ชาวพุทธ” ซึ่งใช้ชีวิตเติบโตมากับสื่อสารมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่อนานาประดามี เราคงต้องมองอะไรให้ “กว้าง”, “ลึก” และ “ไกล” ไปยิ่งกว่าการ “หลงเชื่อ” หรือ “ยอมรับ” ตาม “ป้าย” หรือ “เนื้อที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์” ชนิดง่ายๆ ตื้นๆ เหล่านั้น

น่าเสียดายที่เนื้อที่ของคอลัมน์นี้มีจำกัด จนต้องยกยอดไปฉบับหน้า ว่าหากจะ “มอง” และ “พิจารณา” กันอย่าง “ชาวพุทธ” แล้ว อะไรเล่า ที่หมายถึง “การปฏิบัติบูชา” อะไรคือ “สัจจะ” และอะไรกันแน่ ที่มีจะกินความไปถึง “อธิษฐานธรรม” อย่างที่ “ชาวพุทธ” จะพึงมีและพึงเป็น ตลอดจนพึงกระทำ ในโอกาส “วิสาขบูชา” อันสำคัญยิ่งนี้

เพียงแค่การไปรับการ์ดจากศูนย์คุณธรรมฯ จากที่ว่าการอำเภอ ากศาลากลางจังหวัด แล้วเขียนข้อความสวยๆ ไพเราะ ระรื่นหู หรือโก้หรู-โอ่อ่า เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรี หรือคนที่คุณรัก(อย่างที่ศูนย์คุณธรรมฯ โฆษณาไว้) จะเป็น “สัจจะอธิษฐาน” ที่เป็น “การปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า” หรือไม่

การบอกว่า “ถึงแม้งานจะหนัก ปัญหาจะมาก พ่อจะรักษาอารมณ์ที่เบิกบาน เมื่ออยู่กับแม่ และลูกๆ ตลอดไป” ของท่านนายกรัฐมนตรี เป็น “สัจจะอธิษฐาน” เพื่อ “ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า” หรือไม่

อีก ๗ วันมาพบกัน แล้ว “เรียนรู้ร่วมกันอย่างชาวพุทธ” อีกที…

eXTReMe Tracker

Friday, May 06, 2005

ย้ายบ้าน..ในทางธรรม

.................................


ในฐานะนักบวชผู้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์มากว่าสิบพรรษา บางเรื่องในฆราวาสวิสัย อันเป็นความสามารถ หรือการเป็นอยู่ ของผู้ครองเรือน ก็ดูจะพ้นขอบข่าย หรือห่างไกลพรมแดนแห่งความเข้าใจออกไปพอสมควร

วันดีคืนดี(หรือวันร้ายคืนร้ายก็ไม่แน่ใจนัก !! ) เมื่อองค์กรที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมงานอยู่ด้วย คือ กลุ่มเสขิยธรรม มีอันต้องย้ายสำนักงานไปยังนิวาสสถานแห่งใหม่ จากเดิมที่เคยอยู่ใกล้ๆ วัดทองนพคุณ ใกล้โรงพยาบาลตากสิน ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ออกไปอยู่แถบชานเมือง ณ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ริมถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงและเขตทวีวัฒนา แถว ๆ พุทธมณฑลสาย ๓ จึงได้ร่วมเรียนรู้ “ทุกข์ของคนกรุงฯ” อีกประการหนึ่งไปโดยปริยาย

ในฝ่ายพระสงฆ์นั้น ความสบาย หรือสะดวก จะนับเนื่องอยู่ด้วย “ความก้าวหน้าในทางธรรม” หรือจะเรียกว่า “เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม” ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ว่าได้ ด้วยพระบรมศาสดาทรงชี้แนะ ความสบาย หรือ “สัปปายะ” เอาไว้ ๗ ประการ มีใจความโดยย่อดังต่อไปนี้

สัปปายะ หมายถึง สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมา ธิ ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ อาวาส (ที่อยู่), โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร), ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ), บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง), โภชนะ (อาหาร), อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ), อิริยาบถ; ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ

ในฐานะชาวพุทธ จะว่าไปแล้ว “สัปปายะ” ข้างต้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องน้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติงาน หรือการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หรือเกื้อกูลกันและกันให้พ้นทุกข์ในบั้นปลาย แต่..ที่น่าเสียดายก็คือ ดูเหมือนกับว่า “วิถีชีวิต” ของคนกรุงฯ นับวันจะยิ่งห่างไกล “ความสบายอย่างพุทธ” ดังที่ยกมาข้างต้นยิ่งขึ้นทุกที

ผู้เขียนมีโอกาสออกไป “หาบ้าน” กับผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ของกลุ่มเสขิยธรรมอยู่หลายกรรมหลายวาระ ได้พบปะพูดคุยทั้งกับเจ้าของบ้านให้เช่า นายหน้าเสนอบ้านให้เช่า ตลอดจนผู้แนะนำทำเลบ้านน่าอยู่ด้วยประการต่างๆ เพื่อชักชวนให้ “พวกเรา” ไปเช่า ตามที่ “พวกเขา” อยากให้ไป(ด้วยผลประโยชน์บ้าง ด้วยน้ำใจบ้าง..หลายกรณี) สิ่งที่ได้พบได้เห็น นอกเหนือจากความเหนื่อยยากของผู้ที่ “ปราศจากบ้านของตนเอง” แล้ว ก็คือ การเจรจาต่อรอง และการช่วงชิงความได้เปรียบอย่างที่บางครั้ง “คนใกล้วัดใกล้วา” ก็ต้องพากันสะอึกอึ้งไปกับท่าที “เอาแต่ได้-ไม่ยอมเสีย” กระทั่งเกือบจะต้องเรียกว่า “ไร้น้ำใจ” ในทุกมิติและทุกกรณี

ในการชิงไหวชิงพริบ ระหว่าง “ผู้เช่า” ที่ต้องการความสะดวกสบาย “ราคาถูก” กับ “ผู้ให้เช่า” ที่ต้องการ “ราคาแพง” ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ “ไร้ความไว้วางใจต่อกันและกัน” อย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กันนั้น ภายหลังการพูดคุยด้วยถ้อยคารมหวานหู สิ่งที่ตามมาก็ “มูลค่า” ที่มีมากกว่า “คุณค่า” โดยหาได้มี “กัลยาณมิตรธรรม” ใดๆ เจืออยู่ไม่

จริงอยู่ ที่ว่าในที่สุด “กลุ่มเสขิยธรรม” ก็ได้บ้านที่พอเหมาะจะใช้เป็นสำนักงานเล็กๆ สำหรับคนทำงานไม่กี่คนมาหลังหนึ่ง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕ (บ้านหลังสุดท้ายฝั่งซ้ายมือ) ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐ โทรศัพท์ ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖, ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙

แต่ลึกๆ ในใจของหลายคนที่เกี่ยวข้อง ดูจะมองออกไปไกลกว่านั้น เพราะในฐานะที่พวกเรา “กลุ่มเสขิยธรรม” เป็นองค์กรพุทธบริษัท เราอยากจะผลักดัน และอยากจะเห็น “ความสัปปายะ” เรื่อง “อาวาส” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางในการจัดการที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับ “สัปปายะ” อื่นๆ ที่ควรแก่การพิจารณาเพื่อนำมาปฏิบัติจริงไม่น้อยไปกว่ากัน

บางคนฝากความหวังไว้ที่ “ผู้ว่าฯ ประชาธิปัตย์” บางคนก็ฝากไว้กับ “นายกฯ ไทยรักไทย”

แต่ก็มี “ชาวพุทธ” อีกไม่น้อย ที่ไม่แน่ใจว่า “ทั้งสองท่าน” จะมี “กึ๋น” เพียงพอ ทั้งต่อหลักธรรม และความเป็นศาสนิกชนของตัวเอง…

eXTReMe Tracker