ทุจริต
...................................
ข่าวคราวการทุจริตอันเนื่องอยู่กับสนามบินหนองงูเห่า หรือสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ “สุวรรณภูมิ” มีออกมาให้รับรู้รับทราบกันเป็นระยะ นับแต่ริเริ่มจะก่อสร้างขึ้น กระทั่งปัจจุบัน ที่รัฐบาลนี้กำลังโหมระดมสรรพกำลัง เพื่อให้เสร็จทันใช้ในยุคสมัยของพวกเขา(และเธอ)มีอำนาจวาสนา
ด้วยมุมมองทางศาสนาและสามัญสำนึกแห่งความถูกต้อง นี่ออกจะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่รัฐและองคาพยพของรัฐปล่อยให้เรื่องราวอันเป็นอกุศลเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต ่อเนื่อง และดำรงอยู่เนิ่นนาน โดยมิได้ชำระสะสางให้เกิดความโปร่งใสและขาวสะอาด ตามหลักธรรมาภิบาล หรือรัฐาภิบาลก็แล้วแต่จะกำหนดเรียก
ยิ่งในคราวนี้ด้วยแล้ว ข่าวจากสื่อระบุว่าวงเงินทุจริตอาจสูงถึงเกือบสามพันล้านบาท โดยเกี่ยวเนื่องกับบริษัทคู่ค้า นายหน้า รัฐบาลไทย และหน่วยงานรัฐต่างประเทศ กระทั่งกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับโลกไปในที่สุด
และที่น่าอับอายยิ่งก็คือ ๓ ฝ่ายแรก(รวมรัฐบาลไทย หรือคนในรัฐบาลไทย)ตกที่นั่ง “ผู้ร้าย” ขณะที่ฝ่ายหลัง(หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา)กลายเป็น “พระเอก” ทั้งที่หากคิดกันง่ายๆ ตื้นๆ ก็พอจะอธิบายแบบมิจฉาทิฏฐิได้ว่า ฝรั่งเขาไม่น่าทักท้วง เพราะแม้จะจ่ายใต้โต๊ะแต่บริษัทของเขาก็ยังขายของได้ สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้าบ้านเข้าเมือง
เรื่อง “ยอมเสียทุกอย่าง” เพื่อให้ได้เงินเข้าประเทศนี่คงคุ้นหูคุ้นตาผู้อ่านมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะบางประเทศนั้นผู้นำพยายามพูดย้ำแล้วย้ำอีกเช่นนี้อยู่เสมอ เพื่อให้คนในประเทศ “เชื่อ” และ “สมยอม” ให้ได้กับแนวคิด “เงินเป็นใหญ่” เช่นนี้
ก็ประเทศที่ยอมให้ “สนามบินหนองงูเห่า” เกี่ยวพันกับทุจริตมาได้กว่าสี่สิบปีโดยไม่มีการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบอย่าง จริงจังนั่นล่ะ จะเหลียวหน้าเหลียวหลังไปหาใคร…
พุทธศาสนาสอนไว้ว่า “ทุจริต” คือ ความประพฤติชั่ว, ความประพฤติไม่ดี มี ๓ คือ ๑. กายทุจริต ประพฤติชั่วด้วยกาย ๒. วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา ๓. มโนทุจริต ประพฤติชั่วด้วยใจ
ฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องของปัจเจกชน กล่าวคือ เป็นเรื่องของ “แต่ละบุคคล” จะทำ พูด หรือคิด เอาโดยอิสระ ตัวใครตัวมัน เรียกว่า “เลว” กันโดย “ส่วนตัว” ว่างั้นเถอะ !
แต่ถ้าเอากรณี “สนามบินหนองงูเห่า” เข้ามาจับ-เข้ามาเทียบ จะเห็นนัยบางประการที่น่าจะมีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะเห็นได้ถึงความสืบเนื่อง-ยาวนาน ความสัมพันธ์โยงใย และต้องใช้ “โครงข่าย” ที่ซับซ้อน ทั้งฝ่าย “ทุจริต” และ “สืบสวน-ปราบปรามการทุจริต” ประกอบกันไป
นั่นก็คือ มี “โครงสร้าง” อันเอื้อและไม่เอื้อต่อการ “จะทุจริต” หรือ “จะไม่ทุจริต” ตลอดจน “จะปราบ” หรือ “จะไม่ปราบทุจริต” เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ
นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายอย่างยิ่งต่อความเป็น “ชาวพุทธ” ว่าเราจะยกภาระและความรับผิดชอบในเรื่องกุศล-อกุศล, สุจริต-ทุจริต ความดี-ความเลว ฯลฯ ไปอยู่บนบ่าบนไหล่ของ “ปัจเจกบุคคล” เพียงสถานเดียว
หรือจะเริ่มต้น “ปรับโครงสร้าง” เพื่อ “อุดหนุนคนดี” กันเสียที