ธรรมะคนกรุง

มุมมองด้านศาสนธรรมกับชีวิตคนเมืองหลวง..ประเทศไทย


จาก.."สวัสดีกรุงเทพฯ" รายสัปดาห์
My Photo
Name:
Location: สวนเมตตาธรรม, เชียงใหม่, Thailand

Thursday, March 24, 2005

หนังสือธรรมะ

..............................

นอกเหนือจากความเป็น “ศูนย์กลาง” นานัปการแล้ว “กรุงเทพฯ” ยังเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลาง การผลิต-การตลาด “หนังสือ” นานาชนิดอีกด้วย กล่าวคือ ในบรรดา หนังสือ-สื่อสิ่งพิมพ์- -ภาษาไทย ที่ปรากฏอยู่ในบรรณพิภพ คงมีไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบ ที่ระบุว่า “ผลิตและจัดจำหน่าย” โดยบริษัท ห้างร้าน หรือองค์กร อันมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล

“หนังสือธรรมะ” ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นแต่ประการใด…

เพราะใน “กรุงเทพมหานคร” มีโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ใหญ่น้อย “ผลิตหนังสือธรรมะ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พร้อมๆ ไปกับความสนใจและการยอมรับของ “นักอ่าน” และ “นักศึกษา-ปฏิบัติธรรม” ซึ่งก็ต้องมีจำนวนไม่น้อย จึงพอที่จะจูงใจให้ “ร้านหนังสือมาตรฐาน” ต้องจัด “พื้นที่” ส่วนหนึ่ง ให้เป็น “มุม” หรือ “ชั้นวางหนังสือธรรมะ” อย่างถาวร

นี่อาจพอจะนับได้ว่าเป็นความ “ศิวิไลซ์” ประการหนึ่ง ในผืนแผ่นดินสยาม ที่นับวันความดิบและเถื่อนของระบบทุนนิยมบริโภค จะพร่าผลาญด้านสติปัญญาและสุนทรียะ ให้เลือนหายหรือลดน้อยถอยลงยิ่งขึ้นทุกที
และที่น่าชื่นใจ “พุทธศาสนิกชน” ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่างกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าในปัจจุบัน “หนังสือธรรมะ” มียอดพิมพ์และยอดขายไม่น้อยหน้านวนิยายหรือเรื่องราวประโลมโลกย์แต่อย่างใด สู้ไม่ได้ก็แต่หนังสือที่เขียนโดยบุคคลยอดนิยมบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริง “หนังสือดารา” ดังกล่าว ก็มียอดขายสูงอยู่ชั่วขณะเสียเป็นส่วนมาก

ข้อเสียของหนังสือธรรมะที่วางอวดโฉมอยู่บนชั้น ในร้านหนังสือหรือห้างสรรพสินค้า คือมักมีราคาสูง(ตามรูปเล่มและรูปแบบที่พัฒนาขึ้นกระทั่ง “ดูดี” และ “สวย” ขึ้นมาก) จน “นักอ่าน-นักปฏิบัติธรรม”- -ทั่วไป ที่มิได้เป็นสมาชิกของร้านหนังสือเหล่านั้น หลายๆ ท่านต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าแต่ละเดือน จะกัดฟัน “ควักกระเป๋า” ซื้อหาได้สักกี่เล่ม

นิมิตดีที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ที่เกิดขึ้นกับหนังสือหลายๆ ประเภท จึงจัดให้มี “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” มาอย่างต่อเนื่องถึง ๓๓ ครั้งเข้านี่แล้ว โดยปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๕ มีนาคม – ๖ เมษายน ๒๕๔๘ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลาตั้งแต่ ๑๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. ซึ่งนอกจากจะมีหนังสือใหม่ๆ แล้ว “หนังสือเก่าสภาพดี” ก็มีมาลดราคากันเป็นจำนวนมากทุกๆ ครั้ง

“นักอ่าน-นักปฏิบัติธรรม” ที่เคยรีๆ รอๆ กันมา ว่าจะเลือก “หนังสือธรรมะ” เล่มใด มาเป็น “แนวทาง” หรือ “ธงนำ” ในการดำเนินชีวิต จึงไม่ควรพลาดโอกาสดีๆ เช่นนี้ ที่จะเลือกซื้อหา “หนังสือดี-ราคาถูก” ได้ในโอกาสเดียวกัน

งานนี้ “กลุ่มเสขิยธรรม” ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ด้วย ก็จะไปร่วมออกร้าน ในฐานะผู้ผลิตวารสารและหนังสือเล่มด้านศาสนา กับใครต่อใครเขาด้วยเช่นกัน ผู้สนใจอย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนได้ ที่ บูธ M 09 โซน C 1 หรือหาไม่เจอก็สอบถามได้ ที่ ๐๖ ๗๕๗ ๕๑๕๖ ตลอดงาน.

eXTReMe Tracker

Friday, March 11, 2005

ธรรมะ – ธรรมดา และธรรมชาติ

.................................................


ในธรรมชาตินั้นมีความเปลี่ยนแปลงและโยงใยสัมพันธ์ ระหว่างกันและกัน อยู่เป็นนิจ พุทธศาสนาซึ่งเกิดขึ้นจากความ เข้าใจ-ใส่ใจ อย่างถ่องแท้ และลึกซึ้ง ทั้งต่อธรรมชาติและสรรพสิ่ง จึงชี้แนะให้ผู้ใฝ่ใจในการดับทุกข์ ศึกษาและฝึกฝน จนรู้ซึ้ง ตลอดจนวางท่าที ได้สอดคล้อง กับวิถีแห่งธรรมชาติ ทั้งด้านนอกและภายในตน

ชาวพุทธที่แท้ เมื่อเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ต่างๆ จึงมีความระลึกได้(สติ) มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้(ปัญญา) รู้ตัวทั่วพร้อม(สัมปชัญญะ) และมีความสงบอย่างตื่นรูู้้(สมาธิ) อยู่กับเนื้อกับตัวและหัวใจ ชนิดที่ “เพียงพอต่อการใช้งาน”(มีกรรมฐาน) จนสามารถกำหนดท่าทีที่เหมาะสมและ ถูก-ควร ทั้งต่อตนเอง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และต่อธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง…โดยทั่วไป

ว่า… "อะไร" ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสิ่งใด ส่งผลอย่างไร ด้วยวิธีหรือกระบวนการเช่นไร ตลอดจนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร ทั้งภายในและภายนอก

คนที่ไม่เข้าใจ หรือ รู้ไม่พอ..ไม่ทันท่วงที ต่อกระบวนการที่ว่ามานี้ จึงประสบกับความอึดอัดขัดข้อง หงุดหงิด-โมโห หรือกระทั่งเศร้าโศกเสียใจ(ทุกข์) ไม่เว้นแต่ละวัน

หนักเข้าก็เกิดสะสม ชนิดใครเผลอมากระทบ “ต้นทุนทุกข์” ของตนเข้า ก็พาลให้เขื่อนแตก กระทั่งกระแส “ทุกข์” เอ่อท่วม โถมทับ ทั้งตนเองและผู้อื่น จนเกินจริง ลืมไปว่า ทุกสิ่งมีเหตุ มีปัจจัยให้เกิด ทั้งไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แม้กระทั่งทุกข์สุข เพราะต่างก็เป็น “ธรรมชาติ” ทั้งสิ้น คือ มีการ เกิด-ดับ หรือ เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ และดับไป ตามกาลเวลา ด้วยเหตุ-ปัจจัย ที่เกี่ยวข้องนานาชนิด ซึ่งเกินกว่าคนใดคนหนึ่งจะควบคุมหรือจัดการได้โดยง่าย

ดังนั้น เมื่อบางคนหงุดหงิดจากรถติด หรือการจราจรไม่ลื่นไหล หากเข้าใจถึงข้อเท็จจริง และสภาพการมีส่วนร่วม ทั้งของตนและผู้อื่น ก็น่าจะสามารถผ่อนคลาย ให้ใจสงบ และเยือกเย็นพอ ต่อการเกี่ยวข้อง ที่ไม่เกิดผลเสีย ทั้งต่อรางกายและจิตใจของตนเอง หรือผู้อื่น

กล่าวคือ เมื่อรู้ชัด ว่าด้านหนึ่งเราเองเป็นผู้ถูกกระทำ แต่พร้อมๆ กันนั้น เราและผู้อื่นก็มักมีส่วนร่วมกับการกระทำต่างๆ ด้วยกันเสมอ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ก็น่าที่จะสามารถ “ยอมรับ” กับ “ปรากฏการณ์” ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับที่เราเคยให้อภัยกับความพลั้งพลาดของตนเอง

ขณะเดียวกัน การยอมรับว่าเรา “พลาดได้” ก็ช่วยให้มีเมตตากรุณา และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการแก้ไข หรือระวังป้องกันปัญหาที่จะตามมา หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต…

พุทธศาสนานั้นเกิดจากธรรมชาติ เมื่อเผชิญหน้ากับชีวิตสมัยใหม่ที่ห่างไกลวิถีดั้งเดิม จึงทำให้หลายต่อหลายคนที่ยังไม่ลึกซึ้งกับ “วิถีพุทธ” พาลคิดไปว่าศาสนาของตนใช้งานใช้การไม่ได้เสียแล้ว ในสังคมทันสมัยที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เฟื่องฟู

หลงลืมไปเสีย ว่า “คน” หรือ “มนุษย์” เรา ยังเป็นสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติเช่นเดียวกันกับสิ่งอื่น ตามธรรมดา-สามัญ-ปกติ นี่เอง…
ไม่มีอะไรพิเศษ หรือวิเศษด้วยประการใดๆ เลย

eXTReMe Tracker

Friday, March 04, 2005

สื่อ ศาสนิก และสังคม

......................................................

คนใ นแวดวงศาสนามักจะพูดถึง “สื่อ” ในด้านลบอยู่บ่อยครั้ง ว่าให้ “เนื้อที่” กับเรื่อง “ดีๆ” น้อย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการส่งเสริม คุณธรรม-จริยธรรม ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏในพื้นที่หลัก หรือในช่วงเวลาที่ง่ายต่อการรับรู้ของผู้คน ดูได้จากข่าวหน้าหนึ่ง หรือหัวข้อข่าวด่วน-ข่าวแทรก ทางวิทยุและโทรทัศน์ ที่ผ่านหูผ่านตากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งล้วนแต่ “คอขาด-บาดตาย” ทั้งสิ้น ที่พอจะเผยแพร่ “ความดีงาม” อยู่บ้าง ก็มีอย่างเสียไม่ได้ หรือมีพอไม่ให้ถูกตำหนิ แต่โดยอัตราส่วนแล้ว ก็เทียบไม่ได้กับข่าว “ความรุนแรง” หรือ “ความขัดแย้ง” อันมักเผยแพร่อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งข้อมูล, ความเห็น หรือบทวิเคราะห์-เจาะลึก

นี่คล้ายจะปรารภกันทั ่วไป และกล่าวถึงเฉพาะ “สื่อสารมวลชน” ที่ทำมาหากินอย่างเปิดเผย มิใช่มัวว่ากล่าวเพียงสื่อลามกอนาจาร ชนิดซ่อนซุกอยู่เงียบๆ ทั้งข้างแผง หลังแผง และใต้แผง ซึ่งขยันขันแข็ง “หากิน” อยู่กับความวิปริตวิตถารของมนุษย์ ประเภทปุถุชนคนย่อหย่อน ผู้มีอวิชชามิจฉาทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน

จะว่าไปแล้วทัศนะข้างต้นไม่ใช่เ รื่องใหม่อะไรนัก คนมีศาสนากันพูดอย่างนี้ เขียนอย่างนี้มาหลายปีดีดัก และเชื่อว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็ “รู้ตัว” หรือ “ยอมรับ” อยู่ในที แต่จะมีทางออกอย่างไร และแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อน่าสังเกตจึ งอยู่ที่ว่า เมื่อพูดและบ่นเช่นนี้มาหลายปีดีดัก ทำไมจึงไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง(และ/หรือ ไม่มีอะไรถูกปรับปรุง ฯลฯ) เสียมากกว่า กล่าวคือ คนบ่นก็บ่นไป สื่อก็ทำอย่างที่ตัวถนัด หรือเห็นว่าขายได้- -มีคนอ่าน กันต่อไป

ใช่หรือไม่ว่า ที่สื่อยังเสนออะไรต่อมิอะไรในด้านที่ขัดแย้ง รุนแรง และแข็งกร้าวเช่นนั้น ก็เพราะว่า เรื่องน่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจดังกล่าว ยังเป็น “ข่าวขาย” เพื่อ “ขายข่าว” ได้อย่างต่อเนื่อง

และใช่หรือไม่ว่า “ศาสนิกชน” จำนวนหนึ่งนั่นเอง ที่ยัง “เสพ-บริโภค” หรือยังยินยอมที่จะมีส่วนร่วม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับ “ข่าวร้อน” ขณะเดียวกับพากันเบือนหน้าหนี “ข่าวสาร” หรือ “กิจกรรม” อันสร้างเสริมและพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็น “มนุษย์” ซึ่งในพุทธศาสนาหมายถึง “ผู้มีใจสูง” ได้แก่คนผู้มีมนุษยธรรม เช่น เมตตา กรุณา

ขณะที่ฝ่าย “พยายามจะหาทางออก” จำนวนไม่น้อย ก็พากัน “เดินตาม” สื่อกระแสหลัก หรือพยายาม “เอาอย่าง” ตลอดจน “ช่วงชิง-อิง-อาศัย” รูปแบบและวิธีการของ “สื่อขายข่าว” เอามานำเสนอในสิ่งที่ตนเชื่อว่า “ดีกว่า” เสียเอง โดยลืมคิดให้แยบคาย ว่าเทคนิควิธีหลอกล่อ หรือกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อ จะมากจะน้อยก็ชักนำให้คนหลง มากกว่าน้อมใจให้สะอาด สว่าง สงบ อย่างเป็นอิสระ และปลอดพ้นความยึดมั่นถือมั่น ตลอดจนไม่ยินยอมแก่งแย่งแข่งดี ดัง “พุทธวิธี” ปฏิบัติมาแต่ครั้งพุทธกาล

ค ล้ายกับว่า วิธีเผยแผ่ธรรมะอย่างชนิดแยบคายและเรียบง่าย ประเภท “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส” นับวันจะยิ่งเลือนหายไปกับ “สังคมสำเร็จรูป” และ “จอมปลอม” ของปัจจุบันสมัยไปทุกขณะ

เราจึงมี “นักพูด” มากเสียยิ่งกว่า “นักทำ” มี “ผู้สอน” มากกว่า “ผู้เป็นแบบอย่าง” และมี “นักประชาสัมพันธ์” กับ “นักโฆษณาชวนเชื่อ” หรือ “นักการตลาด” มากมายก่ายกอง ขณะที่ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” หรือ “ครูกรรมฐานแท้ๆ” หาทำยายากยิ่งขึ้นทุกที

และที่ยิ่งไปกว่านั้น พร้อมๆ กับการน้อมนำให้สื่อ “ดีขึ้น” ไม่ได้ “ศาสนิกชน” หรือ “ผู้นำศาสนา” ก็กลับหันมานิยมชมชอบ “สร้างข่าว” หรือถึงกับซ้ำร้าย “ตกเป็นเหยื่อ” หรือ “กลายเป็นข่าว” ไปเสียเอง

ไม่ว่าจะตั้งใจ…หรือไม่ตั้งใจก็ตาม…

eXTReMe Tracker

Tuesday, March 01, 2005

งานศาสนา, งานวัด หรืองานบุญ

................................


งานมาฆะบูชาที่ท้องสนามหลวงเสร็จสิ้นไปหลายวันแล้ว ด้วยความปิติสุขของ “ชาวพุทธ” จำนวนหนึ่ง ซึ่งยังขวนขวายที่จะ “เป็นชาวพุทธ” ทั้งความคิด ความเชื่อ และการกระทำ ว่าง่ายๆ คืออยากให้ กาย วาจา และใจ ของตน ตลอดจนวิถีชีวิต-วิถีวัฒนธรรม ในชุมชน ในสังคม “เนื่อง-” อยู่กับความเป็น “ชาวพุทธ” ของตน เมื่อมีอะไรที่สามารถส่งเสริมหรือสนับสนุนความคิดความเชื่อ ทั้งยังมีโอกาส “แสดงออก” จึงอิ่มเอมใจกันทั่วหน้า

เสียดายก็ที่ภาครัฐ ทั้งรัฐบาลและระบบราชการ ตลอดจนเอกชนที่มีกำลังวังชา มีมือมีไม้ ไม่ได้ “แสดงตน” ที่จะสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมอย่าจริงจังนัก ปล่อยให้คน ไม่กี่คน-ไม่กี่กลุ่ม ทำกันไปตามมีตามเกิด งานลักษณะนี้จึงออกจะสับสนวุ่นวายอีนุงตุงนังอยู่เสมอ ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ กล่าวคือ ไม่สามารถนำเสนอคุณค่าหรือแก่นสารของความเป็น “พุทธ” ได้ อย่างชนิดที่จะเป็นประโยชน์ หรือใช้งานได้จริง ให้มากไปกว่าการเป็น “บุญกิริยา” เพียงด้านเดียว

อีกทั้งจะว่าไปแล้ว งานทำนองนี้แทบทุกครั้ง ก็ยังมากไปด้วยพิธีกรรม และการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มิอาจน้อมนำ “คนรุ่นใหม่” หรือ “ศาสนิกในศาสนาอื่นๆ” ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา หรือเกิดความสนใจ ที่จะทดลองประยุกต์ใช้ “พุทธธรรม” หรือ “พุทธวิธี” เพื่อพัฒนาตนไปสู่ความดี ความงาม และความจริง เยี่ยง “ชาวพุทธที่ดี” ต่อไป

นี่เป็นเรื่องที่ “กรุงเทพมหานคร” ในฐานะเจ้าของบ้าน และ กระทรวง-ทบวง-กรม ต่างๆ ตลอดจนองค์กร “แม่งาน” ควรพินิจพิจารณาให้มากขึ้นมิใช่หรือ?

ผู้เขียนเองร่วมงานอยู่กับพุทธบริษัทกลุ่มเล็กๆ ชื่อ “เสขิยธรรม” ทำงานด้านการชี้ชวนและส่งเสริม ให้เกิดการประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม อย่างสมสมัย ก็สนใจการจัดงานในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นอยู่ไม่น้อย ว่า..ทำอย่างไร “งานศาสนา, งานวัด และงานบุญ” จึงจะไปด้วยกันได้ ยิ่งถ้าสามารถรื่นเริง ชนิด “บันเทิงในธรรม” ด้วย ก็จะยิ่งวิเศษมหัศจรรย์นัก

แต่ด้วยความที่เป็นกลุ่มทำงานเล็กๆ (และอยู่ภายใต้มูลนิธิเล็กๆ ชื่อเมตตาธรรมรักษ์) จึงทำได้เพียงงานทดลองอย่างชนิดไม่ใหญ่โตนัก ร่วมกับวัดทองนพคุณ รวมทั้งโรงเรียน และชุมชนวัดทองนพคุณ จัดงานอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น ขึ้นในวันเสาร์ที่ ๕ และวันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่จะถึงนี้ ที่ลานวัดทองนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน พร้อมๆ ไปกับงาน “ผ้าป่าเสขิยธรรม ครั้งที่ ๔” เพื่อระดมทุนไปช่วยเหลือการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนทำงานเกื้อหนุนสังคม ของพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ทั้งในเมืองและในชนบท

ใครหรือองค์กรใดสนใจจะร่วมงาน หรือประสงค์จะเปลี่ยนบรรยากาศจากสนามหลวงมาเป็นลานวัดใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ลองแวะเวียนมา “ชิม” ดู…

(สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเสขิยธรรม โทร.๐๒ ๘๖๓–๑๑๑๘ หรือ ๐๖ ๗๕๗–๕๑๕๖ www.skyd.org)

eXTReMe Tracker

“วัด” และ “พระ” กับเมืองกรุงฯ

..........................................


ด้วยฐานะของเมืองระดับ “มหานคร” และมีอายุยาวนานกว่า ๒๒๒ ปี “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งผนวกเอา “ธนบุรี” เข้าเป็นส่วนหนึ่ง มีความ “เจริญ” และ “เติบโต” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

จากชุมชน “บางกอก” ริมฝั่งแม่น้ำ ทางผ่านไป “กรุงศรีอยุธยา” ถึงวันนี้ “Bangkok” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในหลายด้านและหลากมิติ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอากาศเป็นพิษและมีมลภาวะระดับสูง มีโสเภณีและแหล่งค้ากามเกลื่อนกลาด หรือถูกกล่าวขานว่าเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ที่ผสมผสานระหว่างความเจริญและงดงามของเมืองใหญ่ กับวัง และวัดวาอารามต่างๆ ได้อย่างลงตัว

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติสักคนมาถึงกรุงเทพฯ ทุก ๒๐ หรือ ๓๐ นาที โดยแท็กซี่ หรือกระทั่งรถประจำทาง เขา(หรือเธอ)สามารถพบเห็น “วัด” ใหญ่-น้อย ทั้งวัดหลวง-วัดราษฎร์ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์อันแปลกตาได้เสมอ

และหากนักท่องเที่ยวคนนั้นตื่นไม่สายนัก ก็สามารถพบเห็น พระภิกษุ-สามเณร ออกบิณฑบาตได้โดยทั่วไป แม้ไม่มากมายเป็นแถวแนวนับร้อยรูปดังในหลวงพระบาง สปป.ลาว แต่ก็ใช่จะมีให้เห็นเจนตาในอเมริกา หรือยุโรป ฯลฯ จนเป็นที่มาของความตื่นตาตื่นใจสำหรับคนเพิ่งเหยียบย่างมาต่างถิ่นต่างวัฒนธ รรมได้โดยง่าย แทบมิต้องลงทุนใดๆ เลย

ใช่แต่ฝรั่งอั้งม้อเท่านั้น คนไทยแต่เดิมทีก็ถือเอาวัดเป็นทั้งที่เที่ยว ที่พักแรม ที่หย่อนใจ ที่คลายทุกข์ ฯลฯ มาเนิ่นนาน นอกเหนือจากการเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีกรรม และศาสนพิธีตามความเชื่อมั่นศรัทธา

น่าเสียดายที่ปัจจุบันกิจกรรม “กระทำในวัด” ของชาวกรุงเทพฯ เหลือน้อยลงไปทุกที วัดกลายเป็นสถานที่จอดรถ สถานที่บวช และจัดงานศพเสีย(เท่านั้น!!)เป็นส่วนใหญ่ แทบไม่เหลือบทบาทและสภาพ “อาราม” อันหมายถึง สถานที่อันเป็นที่มาแห่งความยินดี, วัด หรือ สวนอันเป็นที่รื่นรมย์ ซึ่งให้ความเพลิดเพลินใจ เช่นในอดีตอีกต่อไป

เพราะทุกวัดต้องลาดคอนกรีตบนลานวัด หรือสร้างลานจอดรถ และตัดต้นไม้ใหญ่ มิให้กิ่งใบร่วงหักลงบนหลังคากุฎีวิหารอันโอฬารตระการตา

เขียนเรื่อยเจื้อยมาแต่ต้น ก็เพียงจะบอกว่า ถึงวันนี้..ขณะนี้ เรามีทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ และว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าที่ส.ส. ว่าที่รัฐบาลใหม่กันเกือบเรียบร้อยแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่คิดจะ “เพิ่ม” หรือ “คืน” ความ “รื่นรมย์” ให้กรุงเทพฯ ด้วยการเปลี่ยนวัดต่างๆ กลับมาเป็น “อาราม” โดยมิต้อง “วิ่งซื้อ-วิ่งเวนคืนที่ดิน” กันบ้างหรือ?

แทนที่จะปล่อยให้วัดเป็นแค่ “ของแปลก” สำหรับฝรั่ง แล้วให้พระเณรเสวยวิบากกรรม ทนร้อนทนอดอู้ อยู่วัดตึกลานปูน สูดดมฝุ่นขี้หมาแห้ง รอกิจนิมนต์โดยไปวันๆ

เปลี่ยนวัดเป็น “อาราม” น่าจะง่ายและดีกว่าเปลี่ยนเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” กระมัง?

eXTReMe Tracker

“สึนามิ” เมื่อ ๖ กุมภาฯ

..............................


ชัยชนะอย่างถล่มทลายของ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ คงส่งผลสะเทือนถึงใครต่อใครต่อไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นคนในแวดวงการเมือง และเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “เรื่องใหม่” และเกินกว่าการ “คาดคิด” หรือ “คาดเดา” ของหลายๆ คน

“ชนะนั้นชนะแน่ !!” (หลายคนเชื่อว่าอย่างนั้น)แต่การชนะถึงขั้นทำให้พรรคการเมืองอื่นเป็นอัมพาต หรือตรวจสอบ “รัฐบาลพรรคเดียว” ตามกลไกของระบบรัฐสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี่ออกจะเกินความคาดหมายไปมาก

ปรากฏการณ์ “เกินคาดอย่างยิ่ง” นั้น จะมากจะน้อยก็ก่อให้เกิดอาการ shock คือ ตกตะลึง งงงวย อกสั่นขวัญหนี สะทกสะท้าน หรือสะดุ้งตกใจ ต่อผู้เผลอสติ ขาดความรู้เท่าทัน ทั้งกับ “สถานการณ์” และ “ใจ” ตนเอง

๒๖ ธันวาฯ ใน ๖ จังหวัดภาคใต้ ตื่นตระหนกกันอย่างไร ๖ กุมภาฯ ในใจของคนที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้าง “ไทยรักไทย” ก็คงเป็นเช่นนั้น… ด้วยคำถามที่ว่า “เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน? ถึงขนาดนี้เชียวหรือ?

แต่ในทางพุทธศาสนาแล้วมองต่างออกไป ว่า “อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้ามีเหตุ - มีปัจจัย” ด้วย “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งหมายถึง “ภาวะที่มีความเป็นปัจจัย ระหว่างกันและกัน ของสิ่งต่างๆ” หรือ “ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย” ตลอดจน “กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย” ภายใต้กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ” ซึ่งหมายถึงการ “สรุป” กฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของพุทธศาสนา กล่าวคือ หากมี “เหตุ – ปัจจัย” อันเหมาะสมและเพียงพอ “อะไรก็เกิดขึ้นได้ – ไม่มียกเว้น” ซึ่งเป็น “ความเข้าใจ” และ “รู้แจ้ง” ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทัน ส่วนจะมี “ท่าที” อย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง… ขึ้นอยู่กับ “ภูมิรู้” และ “ภูมิธรรม” ของแต่ละบุคคลๆ ไป

“สึนามิ” เมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ นั้นท่วมทับทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้คนไปจำนวนมาก ค่าที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยรู้จัก จนหลายคนไม่อาจตั้งหลักหลบหนี หรือระวังป้องกัน

แต่ “สึนามิ ๖ กุมภาพันธ์ ” แม้จะไม่เคยพบเคยเห็น แต่กติกาให้เวลาท่วมทับตามกฎเกณฑ์ถึง ๔ ปี จึงน่าที่จะตั้งสติระมัดระวังไว้เสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ “คลื่นเลือกตั้งลูกแรก” ก่อนที่ “คลื่นจัดตั้งรัฐบาล” และ “คลื่นอภิมหาโครงการต่างๆ” จะตามมา…

ในฐานะ “ชาวพุทธ” เราเรียนรู้และใช้งาน “อิทัปปัจจยตา” ในฐานะ “เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่ง เมื่อใช้แล้วรู้ว่า “ชัยชนะทางการเมืองอย่างท่วมท้น” สามารถเกิดได้ และเกิดขึ้นด้วยอะไรบ้าง จากนั้นก็ย่อมขึ้นอยู่กับ “ชาวพุทธทั้งหลาย” ว่า…

ถึงที่สุดแล้ว ควรจะ “จัดการ” อย่างไร กับ “สึนามิทางการเมือง”

eXTReMe Tracker

ธรรมะหลังเลือกตั้ง

............................

กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์ “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑๒” ก็คงจะจบสิ้นลงไปแล้ว…

ห ลายสิ่งหลายอย่างที่ “ชาวกรุงเทพฯ” ได้พบเห็น และได้ยินได้ฟังจนเจนหูเจนตามาระยะหนึ่ง ก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงไป อาทิ ป้ายหาเสียงนานาชนิด การประชาสัมพันธ์หลากรูปแบบ หรือ ขบวน-คณะ “คนใหญ่คนโต-คนกว้างขวาง” ที่พากันออกมาเดินถนน ไหว้กราบผู้คนชาวบ้านร้านตลาด ทั้งเพื่อแนะนำตัวผู้สมัคร และบากหน้ามาวิงวอน “ขอเสียง” ด้วยตนเองอีกครั้ง เพื่อ “ดิ้นรน” กลับเข้าไปในสภา “อันทรงเกียรติ” ตามที่ปรารถนา

หลายคนที่มีส่วนเกี่ ยวข้อง หรือแม้แต่บางคนที่บรรยากาศพาไป จนเผลอไผล “ผูกติด” ตัวเองเข้ากับสถานการณ์แข่งขันและช่วงชิงดังกล่าว หากไม่ “ปล่อยวาง” หรือไม่เข้าใจปัญหาและสาเหตุ “ตามที่เป็นจริง” เสียแล้ว หลัง ๖ กุมภาฯ ก็อาจรู้สึกว้าเหว่หรือใจหายอยู่ไม่น้อย ค่าที่ ความสนุกเพลิดเพลิน หรือแม้แต่ความเหนื่อยล้า อันแสดง “ตัวตน” และ “ผลงานของตัวตน” ที่เกิดจากการทำงาน หรือการติดตามข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จู่ๆ ก็มายุติลงแบบฉับพลันทันที

อาจมีไม่น้อยที่อยากให้วันคืนเช่นนั้นคงอ ยู่ เพราะได้เติบเต็ม “ตัวตน” ให้มีที่อยู่ที่ยืน ขณะที่อีกด้านก็ปรารถนาจะ “แก้ตัว” หรือ “เอาชนะ” หากมีโอกาสได้ลบหรือลดข้อบกพร่อง ที่เห็นว่าตนพลาดพลั้ง
ลืมคิดไปว่าหาใช ่เพียง “ความผิดพลาด” หรือ “การขาดความเพลิดเพลิน” เท่านั้นไม่ ที่ทำให้ตน “เป็นทุกข์” หาก “ความยึดมั่นถือมั่น” ว่ามีตนและของตนต่างหาก ที่ “ทุกข์” เสียยิ่งกว่า…

ธรรมะสำคัญสำหรับสถานการณ์หลังเลือกตั้งเช่นนี้ หรือกระทั่งควรหมั่นพิจารณาอยู่เป็นนิจ เพื่อความเติบโตทางจิตวิญญาณ ก็คือ กฎแห่งไตรลักษณ์ และพรหมวิหารธรรม นั่นเอง

หากเราทั้งหลาย “เห็นจริง” ในพระไตรลักษณ์ ว่าทุกอย่างล้วนเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” คือ “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน” และ “เป็นอยู่” ด้วยพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” อันมีความหมายโดยสรุป ว่า ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข, พ้นทุกข์, ยินดีกับความสำเร็จของเขา และมีใจเป็นกลางเห็นความจริงและดำรงอยู่ด้วยปัญญา แล้ว ก็จะผ่านพ้นสถานการณ์ หรือสามารถดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความ “ทุกข์น้อย” นั้นเอง

การ “เลือกตั้ง” ก็ผ่านไปแล้ว ความสำเร็จหรือล้มเหลว ความสุขหรือทุกข์ ความเพลิดเพลิน - เบื่อหน่าย หรืออาการ “ปรุงแต่ง” ต่างๆ ทางใจ ล้วน “ผ่านไปแล้ว” ทั้งสิ้น

วันวานเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การสรุปบทเรียน แล้วเตรียมตัวรับวันใหม่ น่าจะดีกว่ามิใช่หรือ?

สี่ปีจึงมี “เลือกตั้ง” สักครั้ง แต่ “การเลือกรับสิ่งดีๆ เพื่อวันใหม่” ทำได้ “ทุกวัน”.

eXTReMe Tracker

“หายนภัย”

“หายนภัย” ในข่าวสาร “หายนภัย”

นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา(หรือก่อนหน้านั้น?) ข่าวคราว “หายนภัย” กลายเป็นความเคยชินที่ คุ้นหู-คุ้นตา ของผู้คน ยิ่งผู้นิยม เสพ-บริโภค “ข่าวสาร” ด้วยแล้ว เรื่องราวอันน่าตื่นเต้น หวาดเสียว หรือโศกสลดหดหู่ ดูจะมีให้รับรู้รับทราบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทั้งโรคซาร์(หวัดมรณะ), ไข้หวัดนก, การฆ่ารายวันใน ๓ จังหวัดภาคใต้, เรื่อยมาถึง “คลื่นยักษ์สึนามิ” ถล่ม ๖ จังหวัดฝั่งอันดามัน, รถไฟฟ้าใต้ดินชนกันเกือบกลางกรุงเทพฯ และล่าสุด..กรณี “เรือเร็วล่ม” แถบเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทุกครั้งที่เหตุการณ์จบลงมักมี “ความคิด-ความเห็น” จำนวนมากประดังกันออกมา น่าประหลาดใจก็ตรง “ความรู้-ความเข้าใจ” ที่เกี่ยวข้อง กลับได้รับการนำเสนอค่อนข้างน้อย

ยิ่งเนื้อหาสาระในลักษณะการ “ถอดบทเรียน-สรุปบทเรียน” อันหมายถึง “ที่มา-ที่ไป” หรือ “เหตุ-ผล” ของปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยแล้ว แทบจะถูก “ความเห็น-อารมณ์-ความรู้สึก” กลบทับให้จมหายไปหมดสิ้น

มิพักจะต้องพูดถึงการนำเสนอทางออก หรือแนวทางการแก้ไข “อย่างเป็นระบบ” ที่มักจะถูกบีบให้ “หลบมุม” ไปอยู่ใน “รายงานภาครัฐ” หรือ “งานวิจัยทางวิชาการ” สำหรับกลุ่มคนเล็กๆ เพียงบางกลุ่ม ด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ-ไม่เข้าใจ-ไม่สนใจ” หรือยิ่งไปกว่านั้นก็ว่า “ไม่เหมาะกับผู้อ่านหนังสือพิมพ์”
เรียกว่านอกจากจะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ทำการบ้าน แล้วยังดันทุรังโยนความผิดให้ “คนอ่าน” ไปเสียอีก…

ถามว่าปรากฏการณ์นี้ “มองมุมพุทธ-มองอย่างพุทธ” ได้อย่างไร?

ก็ขอตอบว่า… ถ้าการ “เป็นชาวพุทธ” หมายถึง การนับถือ-ศรัทธา-เลื่อมใส ใน “คำสอน” และ “แนวทางการดำเนินชีวิต” ภายใต้การชี้แนะของ “พระพุทธเจ้า” ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยการ “เข้าถึงความจริงแท้จนสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด”

ก็มีแต่ “ชาวพุทธ” เองนั่นแหละ ที่จะต้อง “ขวนขวายทำความจริงให้ปรากฏ” กล่าวคือ ต้องถือเอาการ “รับข่าวสาร” เป็นการ “ปฏิบัติธรรม” พร้อมที่จะเรียกร้องขอรับรู้รับฟังความจริง และผลักดันให้มีการนำเสนอความจริง ตลอดจนสิ่งที่เป็นผลแห่งการเรียนรู้ อันจะพัฒนาปัญญา-ญาณทัศนะ ซึ่งเป็น “เหตุ-ปัจจัย” ของการ “ดับทุกข์” ตามหลักพระพุทธศาสนา

มิฉะนั้น “ข่าวสารหายนภัย” ก็จะมีแต่ “หายนภัยในข่าวสาร” ทำให้ผู้คนยึดมั่นถือมั่นและหลงผิด แทนที่จะเป็นสะพานทอดนำศาสนิกชนไปสู่การ “รู้แจ้งและเห็นจริง” อย่างที่ควรจะเป็น

หาไม่ “คนกรุงเทพฯ” ที่อยู่ใกล้แหล่งข่าวสาร ก็จะยิ่งห่างไกล “การบรรลุธรรมที่แท้จริง” ยิ่งขึ้นทุกๆ ที.

eXTReMe Tracker

เครื่องมือ(๒)

“เครื่องมือ”, “กระบวนการผลิต” และ “ผลผลิต” ในทางธรรม(ตอนที่ ๒)
ว่าด้วย “เครื่องมือทางธรรมสำหรับคนกรุงฯ”

โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / www.skyd.org
E-mail : ksb@skyd.org

ท ่านอาจารย์ “พุทธทาสภิกขุ” เคยกล่าวไว้ว่า “จุดซึ่งเย็นที่สุดอยู่ใจกลางเตาหลอมเหล็ก” กล่าวคือ สิ่งที่ “เย็นจัด” เท่านั้น ที่จะปกติอยู่ได้ ในสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่ “ร้อนอย่างยิ่ง” หรืออีกนัยหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่า สิ่งที่เย็นอย่างยิ่งเท่านั้น ที่จะหลอมละลายได้ช้าที่สุด ภายใต้ความร้อนจัดที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่

น ั่นเป็นการเทียบเคียงโดยอนุโลม ซึ่งแม้บัดนี้ก็ยังสามารถใช้ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึง “คนกรุงเทพฯ” และ “ชีวิตในกรุงเทพฯ”

เพราะจะว่าไปแล้ว “กรุงเทพมหานคร” ในยามนี้ดูจะ “ร้อนจัด” ทั้งโดย “รูป” และ โดย “นาม” โดยแท้

ว ่ากันเฉพาะ “รูป” หรือ “วัตถุ” ลุถึงพุทธศักราช ๒๕๔๘ คงต้องยอมรับกันโดยดุษณี ว่ากรุงเทพฯ เต็มไปด้วยวัตถุและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่มาของ “ความร้อนจัดโดยกายภาพ” อย่างมากมายมหาศาล ขณะที่ “ป่าสีเขียว” แต่เดิม หดหายไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของ “ป่าคอนกรีต” ในสัดส่วนที่เท่ากัน(แต่มีอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นทุกขณะจิต)

แ ละเมื่อว่ากันโดย “นาม” หรือ “จิตใจของกรุงเทพฯ” อันเป็น “เนื้อหาสาระ” ทั้งในแง่วิถีชีวิต วิถีการผลิต และกระบวนการเสพ-บริโภค ที่เรียกว่า “อารยธรรม-วัฒนธรรม” ของกรุงเทพฯ แล้ว ก็ดูจะยิ่งเพิ่มและเสริมให้ “ความเร่าร้อนทางวัตถุ” ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

เรียกได้ว่า “กรุงเทพฯ” เป็น “เตาหลอมเหล็ก” สำหรับ “ทดสอบ” พุทธศาสนิกชนว่าจะ “ทน-อด” และ “อดทน” ได้แค่ไหน และเพียงใด..โดยแท้

น ั่นคือ “ทน-อด” ที่หมายถึง “จำทน” ชนิด “กล้ำกลืนฝืนไว้” ทั้งที่ยังทุกข์มาก และยากจะผ่อนคลาย กับ “อดทน” ซึ่งผู้ประสบภาวะนั้นพอจะมี “เครื่องมือ” หรือ “เครื่องช่วย” ในทางธรรม พอให้ “เอาตัวรอด” ไปได้ อย่างไม่ทรมานนัก และอาจจะสามารถ “พัฒนาศักยภาพ” ให้ตนเอง “ลอยตัว” อยู่ “เหนือกระแส” ได้ เมื่อมี “สิ่งแวดล้อม” และ “กัลยาณมิตร” เอื้ออำนวย

สำหรับ “เครื่องมือทางธรรมของคนกรุงฯ” และ “แนวทางแห่งการใช้เครื่องมือ” นั้น ด้วยเนื้อที่จำกัดของข้อเขียนชิ้นนี้ คงต้องสรุปไว้อย่างรวบรัดว่า

ประการแรก “คนกรุงเทพฯ” ต้องหมั่นศึกษา และพัฒนาตน ให้สอดคล้องกับการใช้ “เครื่องมือทางพุทธศาสนา” เช่น การทำความเข้าใจ และนำไปใช้จริง ต่อหลักธรรมะ ทั้งที่เป็น “วิธีคิด” และ “วิถีชีวิต” ทั้งปวง อาทิ คิหิปฏิบัติ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท และอิทัปปัจจยตา เป็นต้น

พร้อมกันนั้น ประการต่อมา “คนกรุงเทพฯ” ต้องสมานสามัคคีที่จะพัฒนา “เครือข่าย” และความเป็น “ชุมชน” ตลอดจนเสริมสร้าง “สิ่งแวดล้อม” ทั้งทางวัตถุและสภาพธรรมชาติ ให้เอื้อต่อ “การศึกษาธรรม” และ “การปฏิบัติธรรม” ขึ้นมาให้ได้

และ ประการสุดท้าย ก็คือการสร้าง “ความสมดุล” ระหว่าง ประการแรก และประการที่สอง เพราะหาก “เครื่องมือ” และ “บรรยากาศแห่งการใช้เครื่องมือ” ไร้ความ “เสมอกันอย่างสอดคล้องและเหมาะสม” เสียแล้ว ก็คงยากที่ “คนกรุงฯ” จะพัฒนาไปได้ ในสภาพที่ก้าวหน้ากว่าภาวะ “ทน-อด” และ “อดทน” ดังที่เคยเป็นมา

ก่อนที่ข้อเขียนชิ้นนี้จะ “เกินโควต้า” มากเกินไป คงต้องเรียนว่า หากผู้อ่านท่านใดสนใจจะแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันในเรื่อง “เครื่องมือและกระบวนการใช้เครื่องมือ” สำหรับ “ดับทุกข์อย่างคนกรุงฯ” คงต้องหาเวลาและโอกาสอันเหมาะควร ติดต่อกัน “หลังไมค์” เสียแล้ว จะติดต่อทาง E-mail ของผู้เขียน ดังที่แสดงไว้ หรือทาง “จดหมาย” ผ่านกองบรรณาธิการก็น่าจะสะดวกดี…

สัปดาห์หน้าและต่อๆ ไป จะถึงวาระ “ธรรมะกับข่าวสารและสถานการณ์บ้านเมือง” ตามคำแนะนำของ “บรรณาธิการ” เสียที

eXTReMe Tracker

เครื่องมือ(๑)

ว่าด้วย “เครื่องมือ”, “กระบวนการผลิต” และ “ผลผลิต” ในทางธรรม(๑)

โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / www.skyd.org

เมื่อเวลาผ่านไป “ศาสนา” ก็อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับ “สถาบัน” อื่นๆ ในสังคม กล่าวคือ “เติบโต” ขึ้น พร้อมๆ กับการ “กระทำ-ถูกกระทำ” ให้เปลี่ยนรูปแปลงร่าง และออกห่างจากวัตถุประสงค์ ตลอดจนคุณลักษณะดั้งเดิมที่เคยมี..เคยเป็น
ในสถานะของความเป็น “สถาบัน” นั้น จะมากจะน้อยย่อมมีระเบียบแบบแผน มีวิธีและวิถีปฏิบัติ ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆ อันจำเพาะเจาะจง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษา” หรือ “วัฒนธรรม” และ “โครงสร้าง-ความเป็นองค์กร” อันแสดงเอกลักษณ์และอัตตลักษณ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญ ทั้งในแง่การสื่อสารภายใน และการประกาศ “ที่อยู่ที่ยืน” ให้ปรากฏ “ตัวตน” ต่อสาธารณะ

ยิ่งนานวัน “เปลือกนอก” หรือ “กระพี้” เหล่านี้ก็ยิ่งเติบโตและห่อหุ้ม หรือแทรกเข้าเป็นเนื้อเดียว พร้อมๆ ไปกับการทำลายแก่นแกนดั้งเดิม ให้สูญหายสลายไป…
“ศาสนา” ก็เป็นเช่นนี้ ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาเดียว…
หรือผู้อ่านท่านใดจะยืนยัน ว่า “พุทธศาสนา” ในปัจจุบัน “มิใช่” และ “มิได้เติบใหญ่” จนอยู่ในฐานะดังว่า..??

ด้านหนึ่ง ความเป็น “สถาบัน” และ “โครงสร้าง” ชนิดแข็งตัว, จำกัด และเจาะจง อาจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับ “ขนาด..ใหญ่ๆ” และ “ปริมาณ” ที่..มากขึ้น และมากขึ้น…
แต่ขณะเดียวกัน ก็มักจะทำให้ “คุณภาพ” ที่ “เคยมี-เคยเป็น” คล้ายจะลดน้อยถดถอยลง และมักหาผู้มี “ศักยภาพ” ในการ “ใช้งาน” หรือจะ “บริหารจัดการ” ความเป็น “สถาบันใหญ่ๆ” นี้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้น้อยลงไปทุกขณะ

จากกระบวนการผลิตชนิด “มือทำ” ประเภท “งานศิลปะ” ที่เรียบง่ายและงดงาม(หรืออลังการและมหัศจรรย์)
เมื่อหันมาใช้เครื่องมือระดับ”สถาบัน” เป็นตัวตั้ง “ผล” ที่ออกมา จึงดูจะเป็นได้เพียง “ผลิตภัณฑ์พลาสติก” ที่ผลิตจากเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่..เท่านั้น
งามก็งามได้อย่างของโหล ดูดื่นดาษเกลื่อนกลาดไปเสีย
ทั้งคุณค่าน้อย และไม่น่าสะสม ไม่น่าภาคภูมิใจ…

แต่จะว่าไปแล้ว ปัญหาก็มิได้อยู่ที่ขนาดเครื่องจักรและคุณภาพผลผลิตเพียงด้านเดียว…
หากอยู่ที่ “ผู้ซื้อ” หรือ “ผู้เสพ” พร้อมๆ กันไปด้วย เพราะถึงที่สุดแล้ว “ผู้บริโภค” เอง ก็มีส่วนในการกำหนดรูปลักษณ์และเนื้อหาสาระของ “สินค้า” อยู่ไม่มากก็น้อย
กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อ “มักง่าย” มีอุปนิสัย “ชอบของถูก” โดยไม่พิจารณา การตัดสินใจก็มักเป็นไปด้วยความรู้สึก มากกว่าจะใช้เหตุใช้ผล หรือใช้ความจำเป็น หรือถือเอาระยะเวลาและประโยชน์ใช้สอยที่ผลิตภัณฑ์จะพึงมีเป็นตัวตั้ง อย่างที่ควรจะเป็น
“ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” จึงมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ ขณะที่ “งานศิลปะ” ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป พร้อมๆ กับความสามารถในการ “ใช้เครื่องมือ” และ ความสามารถในการ “ผลิตงาน” ชนิดทำเองใช้เอง และ/หรือ ที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

“พุทธศาสนา” นั้น แต่เดิมเรียกว่า “ธรรมวินัย” หรือ “พรหมจรรย์” มีความหมายโดยสังเขปว่า..

ธรรมวินัย หมายถึง คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย
ธรรม = คำสอนแสดงหลักความจริงและแนะนำความประพฤติ,
วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ ;
ธรรม = เครื่องควบคุมใจ, วินัย = เครื่องควบคุมกายและวาจา
และ…
พรหมจรรย์ คือ การประพฤติธรรมอันประเสริฐ, การครองชีวิตประเสริฐ, มรรค, พระศาสนา

ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น “เครื่องมือ” ในการดำเนินชีวิต และพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนช่วยยกระดับทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น
ด้านหนึ่ง เป็นเรื่องของ “ปัจเจกบุคคล” ที่มุ่งพัฒนาตน
หากอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องของ “ชุมชน” หรือ “สังฆะ” แห่ง “พุทธบริษัท” ที่จะช่วยเหลือและเกื้อกูลกันและกัน ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด ทั้งในทางโลกและทางธรรม

พุทธศาสนาในอดีตนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มคน “ทวนกระแส” ผู้มุ่งสร้างสรรค์สิ่งดีงามสำหรับตนและสังคม ด้วย “ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต” โดยมิได้มี “คณะสงฆ์” อันใหญ่โต ไม่มี “สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ” ไม่มี “กรมการศาสนา” หรือต้องมี สมาคม-องค์กร ใดๆ มารองรับ
น่าประหลาด ที่ยุคนั้น “พระอรหันต์” หรือ “อริยบุคคล” ระดับต่างๆ เกิดขึ้นจนนับไม่ถ้วน…

เสียดายที่เนื้อที่หมดลงแล้ว ต้องขออนุญาตยกยอดไปขยายความในฉบับหน้า…
แต่อยากทิ้งท้ายสำหรับ “คนกรุงเทพฯ” ไว้ว่า “พุทธศาสนา” นั้นเกิดขึ้นโดยคนเมือง และมีหลักธรรมคำสอนจำนวนมากสำหรับการอยู่ร่วมกัน
มิใช่และมิได้เกิดขึ้นสำหรับหลีกเร้นไปสู่ป่าเขา(อย่างเดียว)แต่ประการใด
“คนเมืองใหญ่” จึงไม่ควรท้อแท้ และหันไปหา “ศาสนา” หรือ “พิธีกรรม” สำเร็จรูป อันเป็น “ผลิตผล” ของ “อุตสาหกรรมศาสนา” กันเสียหมด

ฉบับต่อไปคงต้องมาว่ากันถึง “เครื่องมือ”, “กระบวนการผลิต” และ “ผลผลิต” ในทางธรรม(สำหรับคนกรุงเทพฯ)อีกสักครั้ง ถ้ายังมีผู้อ่านสนใจติดตาม…

eXTReMe Tracker

“ปีใหม่”

“ปีใหม่” ในกระแสแห่งการเปลี่ยนผ่าน

โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / www.skyd.org



และแล้ว “เทศกาล” ก็ผ่านไปอีกครั้ง
โดยมิอาจฉุดรั้งความสุขสมและรื่นรมย์(หรือหม่นเศร้า?)เอาไว้ได้

ด้วยเงื่อนไข “เวลา” และ “ภาระ-หน้าที่”
ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง-รับผิดชอบ
ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุ สภานภาพ หรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ

โดยกฎธรรมชาติ “เวลา” นั้นไม่หยุดนิ่ง และกลืนกินสรรพสิ่งอยู่เป็นนิจ…
แ ละ “เวลา” นี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญ กำหนดให้ความปรารถนาสามัญ แปรเปลี่ยนเป็น สุข - ทุกข์ ภายใต้กรอบแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว ของการเดินทางสู่เป้าหมายที่พึงหวัง ใน “เงื่อนเวลา” ที่กำหนดไว้
ได้ตามปรารถนาตามเวลาที่คาดไว้…ก็เป็นสุข
ไม่ได้ดังหวัง ไม่ได้ดังเวลาที่ตั้งใจ…ก็เป็นทุกข์



ช ีวิตในชนบท กับวิถีการผลิตโดยอาศัยธรรมชาติ อาจผูกพันกับเวลาบ้าง แต่ยังยืดหยุ่นอยู่มาก เพราะบางคราวฤดูกาลก็ปรวนแปร ไม่มีใครกำหนดสิ่งใดได้จริงจัง
พาให้ “สุข-ทุกข์” ของผู้คน “ยืดหยุ่น” ตามไปด้วย…

น ั่นออกจะต่างจาก ชีวิตเมือง และ วิถีธุรกิจ-อุตสาหกรรม อันซับซ้อน ซึ่งมนุษย์สร้างและกำหนด-พัฒนาเงื่อนไขต่างๆ ขึ้น อย่างเต็มไปด้วยรายละเอียดและข้อจำกัด เสมือนพันธนาการที่ไร้หนทางปลดปล่อย
ย ิ่งชีวิตเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ซึ่งนับวันจะเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งด้วยแล้ว ทั้ง “เวลา” และ “ภารกิจ” ดูจะยิ่งผูกมัดรัดตรึงจนใครๆ ก็แทบมิอาจปฏิเสธได้
เป็นชีวิตที่ผูกพันอยู่ด้วย “เวลา” และ “ภาระ” โดยแท้

“ทุกข์” เช่นใดนั้นมิต้องกล่าวถึง
คำถามคงอยู่ที่ว่า แล้วจะ “สุข” กันได้อย่างไร?…



เมื่อเรามิอาจฉุดรั้งเวลาและผลักภาระรับผิดชอบออกไปได้
ทั้งไม่อาจถ่วงดึง “เทศกาลแห่งความสุข” ให้อยู่กับเราดังปรารถนา
ก ็คงมิแต่ “สติ” ที่ “เท่าทัน” และ “ปัญญา--ความรู้แจ้ง” กระมัง ที่จะช่วยให้เราฝ่าข้ามข้อจำกัดของกฎธรรมชาติและกรอบขังที่มนุษย์สร้างขึ้นอ อกไปได้
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับ “ข้อจำกัด” เหล่านั้นอย่างมีทุกข์น้อยที่สุด
เ พราะ “สติ--ความระลึกได้” และ “ปัญญา--ความรู้แจ้ง” จะช่วยให้เราสามารถมองเห็น สัมผัส และก้าวผ่าน “สรรพสิ่ง” ได้ “ตามความเป็นจริง” โดยมี “ท่าทีที่เหมาะสม”
ตามศักยภาพที่เรามีอยู่

ใ น “กระแสแห่งการเปลี่ยนผ่าน” อันยิ่งใหญ่ หากไม่ยกระดับตนเองให้เป็นเช่น “มหานาวา” อยู่ “เหนือกระแส” และใช้ “สติ-ปัญญา” เป็น “เข็มทิศ-หางเสือ” เสียแล้ว เราทั้งหลายก็ง่ายที่จะถูกกำหนด ลดให้เหลือฐานะเพียง “เศษสวะ” เล็กๆ เคลื่อนไหลไปตามยถากรรม ตามแต่ “กระแส” จะพาไปเท่านั้น
มหานาวาแห่งโลกุตรธรรม เป็นเช่นใด เข็มทิศ-หางเสือ ของ สติ-ปัญญา เป็นเช่นใด ชาวพุทธย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว

หากยังไม่ทราบก็เป็นเรื่องที่พึงค้นคว้าศึกษา และปฏิบัติขัดเกลาเพื่อพัฒนาตนมิใช่หรือ?

eXTReMe Tracker